การใช้กระบวนการจัดการความรู้ (KM) ในสถานศึกษา
การจัดการความรู้ในสถานศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษานั้น เป็นนวัตกรรมที่สถานศึกษาควรบริหารจัดการให้มีการจัดการความรู้สู่การปฏิบัติ เพื่อให้เป้าหมายในการจัดการความรู้ (Desired State) ที่ตั้งไว้บรรลุผล โดยคณะผู้จัดการ ความรู้ซึ่งจะต้องมีผู้อำนวยการสถานศึกษาเป็นประธาน จะต้องมาร่วมกัน กำหนดเป้าหมายของการจัดการความรู้ เพื่อให้วิสัยทัศน์ และพันธกิจของสถานศึกษาบรรลุผล อาจจะเลือกกำหนดกำหนดเป้าหมายของการจัดการความรู้จากยุทธศาสตร์ใด ยุทธศาสตร์หนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ของสถานศึกษา มาพัฒนาและกำหนดเป็นเป้าหมาย เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพ การศึกษาและคุณภาพผู้เรียนในที่สุด ดังนั้นก่อนที่จะมีการจัดการความรู้ ผู้จัดการความรู้และคณะผู้บริหาร ครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาทุกคนในสถานศึกษา ควรได้ทำความเข้าใจเรื่องของ คุณภาพการศึกษา การพัฒนาคุณภาพการศึกษา และการจัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาก่อน เพื่อให้มองเห็นภาพรวม (Concept) ในการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา และเป็นแนวทางไปสู่การจัดการความรู้ในสถานศึกษาทั้งที่เป็นความรู้แจ้งชัด (Explicit Knowledge) และความรู้ที่ฝังลึกในตัว (Tacit Knowledge)
บุญดี บุญญากิจ และคณะ อธิบายว่า จากการศึกษากรอบความคิดของการจัดการความรู้แล้ว จึงได้สรุปขั้นตอนหลักๆ ของกระบวนการความรู้ (Knowledge Process) ไว้ดังนี้
1. การค้นหาความรู้ (Knowledge Identification)
2. การสร้างและแสวงหาความรู้ (Knowledge Creation and Acquisition)
3. การจัดการความรู้ให้เป็นระบบ (Knowledge Organization)
4. การประมวลและกลั่นกรองความรู้ (Knowledge Codification and Refinement)
5. การเข้าถึงความรู้ (Knowledge Access)
6. การแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้ (Knowledge Sharing)
7. การเรียนรู้ (Learning)
ทั้ง 7 ขั้นตอนนี้จะช่วยให้องค์กรสามารถสร้างและจัดการความรู้ทั้งที่มีอยู่เดิม ภายในองค์กรและความรู้ใหม่ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล