ReadyPlanet.com
dot
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ :
bullet ลืมรหัสผ่าน
dot
สมาชิกใหม่ขณะนี้ คน
dot
dot
dot
dot
dot

dot
dot
dot
dot
dot
PLCนวัตกรรม
bulletระบบประกันคุณภาพออนไลน์
bulletfacebook.com - kruthai40
dot
dot


กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน และการเรียนรู้ ที่น่าสนใจ
มรดกไทย ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
เครือข่ายกาญจนาภิเษก
เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง
ห้องเรียน DLIT
ห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณ
gotoknow:kruthai40


คนไทยรักการอ่าน

 
ประเวศชี้ถ้าคนไทยรักการอ่านจะแก้ทุกปัญหาได้ง่าย
 
 
ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส กล่าวในการประชุมระดมความคิดเห็นเรื่อง “ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างปัญญาด้วยการอ่าน” ที่เมืองทองธานี เมื่อวันที่  14 มิ.ย. ว่า ขณะนี้ปัญหาทางสังคมและการเมืองซับซ้อนมาก เราต้องนำการอ่านหนังสือมาช่วยแก้ปัญหา ซึ่งฟังดูอาจไม่เกี่ยวกัน แต่หากประชาชนมีนิสัยรักการอ่านโดยรู้จักอ่านเอาเรื่อง และเข้าใจปัญหาที่ซับซ้อนก็จะคลี่คลายได้  ดังนั้นเราต้องเร่งสร้างนิสัยรักการอ่านอย่างเร่งด่วน เริ่มจากภาครัฐจะต้องหาหนังสือดีๆ เข้าห้องสมุดชุมชนให้ได้อย่างน้อย 7-8 หมื่นเล่ม โดยหางบฯจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนฝ่ายการเมืองจะต้องชูนโยบายมาตรการการเงินการคลังเพื่อสังคม อย่าหลงชูแต่นโยบายทางเศรษฐกิจ เพราะปัญหาเศรษฐกิจจะคลี่คลายได้เมื่อสังคมดี    


ศ.นพ.ประเวศ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ต้องดูแลการบริหารจัดการหนังสือ โดยเฉพาะหนังสือในห้องสมุดต้องป้องกันการทุจริตคอรัปชั่น ให้ครอบครัวมาช่วยสร้างนิสัยรักการอ่านตั้งแต่วัยแรกเกิด ต้องทำให้เด็กอ่านหนังสือแล้วรู้สึกสนุก ไม่ใช่การบังคับอ่าน เน้นอ่านวิเคราะห์  อ่านเอาเรื่อง รวมทั้งจัดประกวดการอ่าน และควรสร้างสัญลักษณ์การอ่าน โดยให้ศิลปินมาเป็นต้นแบบการอ่านหนังสือ ซึ่งการสร้างนิสัยรักการอ่านต้องร่วมมือกันเป็นภาคี 
 

" ขณะนี้หนังสือดีๆ ตีพิมพ์แค่ 2-3 พันเล่ม ยังขายไม่ค่อยได้ ทั้งที่ประชากรไทยมีกว่า 63 ล้านคน แต่ถ้าเป็นหนังสือโป๊จะขายดิบขายดี ซึ่งถ้าแนวทางการบริโภคยังเป็นเช่นนี้ การผลิตหนังสือจะเข้าสู่วงจรอุบาทว์ คนผลิตไม่อยากผลิตหนังสือดี และท้องตลาดก็จะมีแต่หนังสือโป๊เปลือย " ศ.นพ.ประเวศ กล่าว  


ศ.ดร.กาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิต กล่าวว่า  จากรายงานของเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ระบุว่าปัจจุบันยังมีเด็กป.3  ที่อ่านหนังสือไม่ออกอีกจำนวน  6-7 หมื่นคนทั่วประเทศ ถ้าเราจะหวังให้คนไทยหันมาอ่านหนังสือคงเป็นเรื่องยาก ดังนั้นสิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการต้องทำคือสอนให้เด็กอ่านออกเขียนได้ตั้งแต่ป.1  และต้องผลิตหนังสือดีๆ ราคาถูกๆ  รวมทั้งต้องช่วยกันทำให้มีการจัดพิมพ์หนังสือในจำนวนที่มากพอจนทำให้ราคาถูกลงได้    


นางสุวดี จงสถิตย์วัฒนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท นานมีบุ๊คส์ กล่าวว่า  ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการอ่านต้องทำให้เข้าถึงเยาวชน18 ปี หรือระดับอุดมศึกษา เพราะจิตวิทยาการอ่านของเด็กแต่ละช่วงวัยมีความแตกต่างกัน   ส่วนการพัฒนาคุณภาพการอ่านจะต้องสร้างเทคนิคให้เด็กรู้สึกอยากอ่านหนังสือเอง ไม่ใช่การกำหนดเป็นวาระแห่งชาติหรือการบังคับกัน  นอกจากนี้การสร้างห้องสมุดชุมชนควรพิจารณาหนังสือ และสถานที่ให้เหมาะสมกับสภาพชุมชน เพราะที่ผ่านมามีหน่วยงานราชการแห่งหนึ่งทำโครงการห้องสมุด 4 มุมเมือง ใช้งบฯถึง 50 ล้านบาท แต่ทำจดหมายถึงตนเพื่อขอรับบริจาคหนังสือ ซึ่งกลายเป็นว่าสร้างห้องสมุดใหญ่โต แต่ไม่มีหนังสือ ขณะเดียวกันคนในชุมชนก็ไม่กล้าเข้าไปใช้บริการ เพราะหรูหราเกินไป
"น.พ.เกษม วัฒนชัย" ไขปริศนาปัญหาชาติ ทำอย่างไรคนไทยรักการอ่าน

 

มติชนรายวัน  วันที่ 09 มกราคม พ.ศ. 2547 ปีที่ 27 ฉบับที่ 9436

 

หมายเหตุ - น.พ.เกษม วัฒนชัย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ขณะนี้ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้เป็นองคมนตรี และยังรับหน้าที่ประธานโครงการ "รวมพลังรักการอ่าน" ซึ่งเป็นโครงการที่ต้องการจะให้ภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชนร่วมแรงร่วมใจกันทำให้คนไทยรักการอ่านหนังสือ และขณะนี้โครงการดังกล่าวได้ดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว น.พ.เกษมจึงเป็นบุคคลหนึ่งที่จะตอบคำถามได้ดีว่า "พวกเราจะทำอย่างไรให้คนไทยรักการอ่าน"

 

ทำไมเกิดโครงการ "รวมพลังรักการอ่าน" ในช่วงนี้

 

ผมคิดว่ามาจากผลพวงการร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ได้มีการทำประชาพิจารณ์ทั่วประเทศ และเกิดกระแสให้ประชาชนร่วมกันมองปัญหาบ้านเมือง พวกเรามองด้านการศึกษา ก็มาถึงการร่าง พ.ร.บ.ปฏิรูปการศึกษา ถามว่าตอนนี้คนของเราอยู่ที่ไหน พอสำนักงานสถิติแห่งชาติโยนตูมลงไปให้ประชาชนรู้ว่า คนไทยอ่านหนังสือโดยเฉลี่ย 3 นาทีต่อคนต่อปี คนก็ตกใจกันหมดว่าเป็นไปได้อย่างไร

 

นี่คือกระบวนการที่ทำให้คนไทยตระหนักว่า เราต้องช่วยกัน จะให้กระทรวงศึกษาธิการทำฝ่ายเดียวไม่ได้ จะให้โรงเรียนทำอย่างเดียวก็ไม่ได้ มันเกิดภาวะสะท้อนกลับไปยังพ่อแม่ที่ถามตัวเองว่า พ่อแม่จะช่วยอะไรได้บ้าง นักการศึกษาเอย หมอเอย จะจัดกลุ่มกันไหม อย่างสมาคมไทยสร้างสรรค์ก็มีการจับกลุ่มกันไปทำที่ขอนแก่น มีมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก ที่เพิ่งตั้งเมื่อปี 2544 บอกว่าเรามาช่วยกันดีไหม รวมทั้งหนังสือพิมพ์มติชนเองก็มีโครงการระดมทุนหาหนังสือให้ห้องสมุด ผมคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ทำให้คนไทยคิดตรงกันว่า เราต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการแสวงหาความรู้หรือการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนรวมทั้งคนไทยด้วย จึงได้มีโครงการรวมพลังรักการอ่านขึ้น

 

คิดว่าจะทำกันอย่างไรให้เด็กอ่านหนังสือ

 

หลายๆ สมาคมที่มาเจอกันก็ถาม คำถามนี้แรงมาก มีคนให้ความเห็นเยอะมาก สุดท้ายมาลงว่าคงต้องทำในหลายๆ ด้านด้วยกัน

 

ในด้านของครอบครัวถือว่ามีบทบาทสูงมาก เราไปดูตัวอย่างต่างประเทศ อย่างในอังกฤษ หรือในญี่ปุ่น เขามีโครงการบุ๊กสตาร์ต (book start) บุ๊กสตาร์ตเชื่อมั่นว่า การจะสร้างนิสัยให้ลูกหลานอ่านหนังสือ ต้องเริ่มเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ ขณะนี้เขาให้เริ่มตั้งแต่เด็กอายุ 4 เดือน ให้ใช้วิธีอ่านให้ฟังเพื่อกระตุ้น ซึ่งไปตรงกับการทำงานของสมองมนุษย์ ซึ่งมีวิจัยจากอเมริกาเอาเด็กที่อยู่ในห้องคลอดแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งพยาบาลพยายามลูบหน้าลูบหลัง อีกกลุ่มหนึ่งป้อนนม 3 มื้อแล้วทิ้งไว้ในที่เลี้ยงเด็ก ปรากฏว่ากลุ่มที่สองมีการพัฒนาอารมณ์ การพัฒนาการด้านภาษาดีกว่ากลุ่มแรก

 

คอนเซปต์ของบุ๊กสตาร์ตคือ ต้องมีหนังสือสำหรับเด็กเล็ก ต้องมีกระบวนการที่ทำให้แม่หรือพี่เลี้ยงถ่ายทอดสู่เด็กตั้งแต่เล็ก มันจะเป็นกระบวนการเรียนรู้ให้กับเซลล์สมองของเด็ก เดี๋ยวนี้เรารู้ว่าคนมีเซลล์สมองที่ทำงานเป็นเซลล์สมองจริงๆ ประมาณแสนล้านเซลล์ แต่ละเซลล์ถ้าเรากระตุ้นตา หู จมูก ลิ้น กาย ได้มากเท่าไหร่ก็จะทำให้แขนขาของเซลล์ไปเชื่อมกับเซลล์อื่นได้เร็ว เช่น เซลล์ที่มองเชื่อมกับเซลล์ที่คิด หรือเซลล์ที่ได้ยินเชื่อมกับเซลล์ที่คิด ซึ่งเซลล์หนึ่งๆ งอกแขนขาที่ว่านี่ได้อย่างมากที่สุด 2 หมื่นแขนขา ถ้าเราจะให้มีการงอกสูงสุดคือ 2 หมื่นคูณแสนล้าน ทารกก็เช่นกัน เด็กที่อาหารไม่พอตอนอยู่ในท้อง หรืออาหารไม่ดี เซลล์พวกนี้จะไม่เจริญ เด็กที่ไม่ได้รับการเรียนรู้ ไม่ได้รับการสื่อสารการเชื่อมต่อของเซลล์จะน้อย หรือเด็กที่ไปเสพยาบ้า เซลล์จะหายไปแล้วแขนขาของเซลล์จะน้อย ที่เราบอกว่าถ้ากินยาบ้ามันจะโง่ ก็เป็นแบบนี้

 

ภรรยาผมตอนมีลูกเราเขาใช้วิธีการเล่านิทานใส่เทปให้ลูกฟัง ลูกฟังนิทานที่แม่เล่าซ้ำอยู่นั่นแหละ แม่หลายคนเล่านิทานเอง บางทีซื้อเอาเทปนิทานมา สิ่งสำคัญก็คือจะสื่ออย่างไรให้เด็กเขาได้รับรู้ถึงอรรถรสของภาษา แล้วเรื่องคุณงามความดีก็อยู่ในนิทาน ในหนังสือหมด จะให้เด็กได้รับรู้เรื่องอะไรก็ใส่ไว้ในนั้น

 

โครงการบุ๊กสตาร์ตของไทยกำลังทำกันอยู่ แต่เรามีปัญหาว่า หนังสือเด็กของเรามีนักเขียนไม่พอ ที่ผ่านมาเราต้องไปเอาหนังสือต่างประเทศมาแปล ลูกชายผมโตมาในช่วงที่การ์ตูนญี่ปุ่นแรงที่สุด ฉะนั้นเขาจะติดญี่ปุ่นมาก ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่สำนักพิมพ์ทั้งหลายจะต้องให้ความสำคัญเกี่ยวกับหนังสือสำหรับเด็กก่อนวัยเรียน

 

มีสมาคมอยู่สมาคมหนึ่งเขาเอาหนังสือไปให้เด็กที่อีสาน ปรากฏว่าพอหนังสือไปถึง เด็กไม่ฟังใคร ไปค้นหนังสือ แล้วเอาไปอ่านกันคนละมุม เราไปดูห้องสมุด เกือบจะไม่มีหนังสือเลย คนที่ไปรู้สึกว่าเด็กไทยไม่ใช่ไม่อยากอ่านหนังสือ ที่ว่าอ่านกันแค่ 3 นาที ถ้ามองเผินๆ อาจจะรู้สึกว่าเด็กไทยขี้เกียจ แต่อาจจะไม่ใช่ อาจจะเป็นเพราะเราไม่มีหนังสือให้เขาอ่าน หรือเขาไม่มีโอกาสได้อ่านก็ได้

 

ในด้านโรงเรียน เรื่องนี้ดอกเตอร์สิริกร มณีรินทร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการมีมาตรการหลายอันที่น่าชื่นชมมาก เช่น มาตรการที่ทำให้ระบบห้องสมุดโรงเรียนเป็นจริง เราต้องลงทุนตรงนั้น แล้วจัดเวลาให้เด็กได้อ่านหนังสือ ไม่ใช่ปล่อยให้เด็กอยู่ในห้องเรียนอย่างเดียว ต้องมีการมอบหมายงานให้เด็กค้นคว้า เพื่อให้เด็กเข้าสู่ห้องสมุด ไม่ใช่ว่าอาจารย์โรเนียวมาให้เสร็จ พิมพ์แจก แล้วเด็กไม่ต้องค้นอีกแล้ว จำให้ได้นะฉันจะออกข้อสอบตรงนั้น เด็กก็ไม่จำเป็นต้องอ่านหนังสือ ถ้าเป็นอย่างนี้ห้องสมุดไม่ต้องมีก็ได้ ต่อไปอาจจะต้องขอให้โรงเรียนมีหนังสือที่ดี แล้ววิธีการสอนต้องเอื้อให้เด็กเข้าไปอ่านหนังสือ เรื่องนี้จะช่วยได้เยอะ

 

ในด้านห้องสมุดประชาชน เป็นระบบที่สำคัญมากในต่างประเทศ แต่เราไม่ได้รับการดูแล ห้องสมุดประชาชนเกือบจะซังกะตาย รุ่นผมเป็นรุ่นที่รู้จักหนังสือจากห้องสมุดประชาชน ไม่ได้รู้จักมาจากโรงเรียน เพราะโรงเรียนไม่มีห้องสมุด แต่ไปได้หนังสือจากห้องสมุดประชาชนซึ่งเป็นเรือนไม้เล็กๆ และพวกเราก็ไปกันทุกวัน ผมอ่านหมดทุกเล่มที่มีในห้องสมุดประชาชน ผมรู้จักบุคคลที่สำคัญจากที่นั่น

 

มันเป็นการเปิดโลกให้กับคนบ้านนอก

 

ผมอยากให้มีห้องสมุดประชาชนลงถึงตำบล แต่ไม่ใช่ที่อ่านหนังสือพิมพ์นะ รัฐบาลกลางไม่ต้องทำ ให้ อบต.ดำเนินการ แต่รัฐต้องให้นโยบายลงไป อาจจะเรียกว่า 5 ปีของการสร้างห้องสมุดตำบล แล้วกระจายเงินลงไปท้องถิ่นให้ท้องถิ่นทำ ตอนนี้มีผู้บริหารระดับท้องถิ่นอยากทำ แต่เขายังไม่รู้ว่าจะต้องซื้อหนังสืออะไร ผมก็บอกว่า ให้สมาคมบรรณารักษ์แห่งประเทศไทย ออกแบบห้องสมุดให้เขาให้เหมาะ เช่น ในระดับตำบลขอให้ออกแบบหลายๆ แบบ แล้วให้ อบต.เลือก ออกแบบบริหาร ออกแบบการหาหนังสือเข้าห้องสมุดให้ด้วย อบรมให้เขาหน่อย ผมคิดว่าเราเอา 3 ระดับ คือ ตำบล อำเภอ และจังหวัด แล้วออกแบบให้ดี ถ้าทำอย่างนี้ได้ผมเชื่อว่ามันจะมีพลังมหาศาล

 

ส่วนบรรณารักษ์ต้องเปลี่ยนวิธีคิด ต้องทำให้มีคนมาอ่านหนังสือให้มากที่สุด ผมคิดว่า เวลาไปเยี่ยมห้องสมุด เราต้องถามว่า แต่ละเดือนมีคนมายืมหนังสือกี่คน เพราะถ้ามีแสนเล่ม แต่คนมายืมไปใช้มีอยู่ไม่กี่คน อย่างนี้ก็ตายแล้ว เวลาเปิดปิดห้องสมุดก็ควรจะเปลี่ยนใหม่ ไม่ใช่เปิดจันทร์ถึงศุกร์พอ เปิดแปดโมงครึ่งถึงสี่โมงเย็นพอ

 

4.คือสำนักพิมพ์ต้องช่วยหาคนเขียน นักวาดการ์ตูน นักแปล แล้วทำให้หนังสือมีคุณค่า ข้อนี้สำคัญ ต่อไปเจ้าของสำนักพิมพ์ต้องมาคุยกันว่าจะเอาเป็นนโยบายหรือไม่ว่า เราจะทำให้หนังสือมีคุณภาพ กำไรต่อเล่มน้อย แต่ให้ผู้อ่านฐานกว้าง กับการที่พิมพ์น้อยแต่ทำราคาสูงอย่างนี้ขายไม่ได้

 

ผมคิดว่าถ้าเราทำอย่างนี้ และสื่อมวลชนก็ช่วยกันเสนอบ่อยๆ คิดว่าจำนวนนาทีของคนไทยที่อ่านหนังสือจะเพิ่มขึ้นกว่าที่มีการสำรวจ

 

กำเนิด"บุ๊กสตาร์ต"

 

โครงการบุ๊กสตาร์ตเริ่มต้นที่ประเทศอังกฤษเมื่อปี 2535 หลังจากพบว่าเด็กในประเทศอังกฤษอ่านหนังสือไม่ค่อยออก โดยมูลนิธิบุ๊กทรัสต์ร่วมกับองค์กรท้องถิ่นในเบอร์มิงแฮม ส่งเสริมให้พ่อแม่อ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่วัยทารก โดยทำการทดลองครั้งแรก 300 ครอบครัว

 

ผลการทดลอง พบว่า หลังจากนั้น 5 ปีเด็กๆ ในโครงการมีความสามารถในการอ่านและการคิดคำนวณสูงกว่าเด็กทั่วไปอย่างชัดเจน นอกจากนี้เด็กที่เข้าร่วมโครงการมีความสนใจการอ่านหนังสือสูงกว่าเด็กนอกโครงการถึง 3 เท่า หลังจากได้รับหนังสือเล่มแรกเป็นเวลา 2 ปี

 

โครงการนี้เริ่มต้นจากเมื่อแม่พาลูกมาตรวจสุขภาพ ตอนอายุ 7-9 เดือน แม่จะได้รับถุงบุ๊กสตาร์ต (Bookstart bag) ฟรีทุกคน ภายในถุงบรรจุ

 

1.หนังสือเด็กที่ได้รับการคัดสรรแล้วว่าเหมาะสมที่สุดสำหรับเด็กวัยเริ่มรู้จักหนังสือ จำนวน 2 เล่ม

 

2.หนังสือแนะนำพ่อแม่ด้วยภาพ เกี่ยวกับการเลี้ยงเด็กและโยงไปถึงการเลี้ยงลูกด้วยหนังสือ

 

3.แผนที่แนะนำห้องสมุดในละแวกบ้านที่แม่จะพาลูกไปขอยืมหนังสืออ่าน

 

4.บัตรห้องสมุดสำหรับเด็กเพื่อใช้ยืมหนังสือจากห้องสมุด

 

5.รายชื่อหนังสือดีๆ สำหรับเด็กที่กรรมการคัดสรรแล้ว

 

6.รายชื่อศูนย์สนับสนุนคุณแม่เลี้ยงลูก และแผนที่สำหรับแม่ไปปรึกษาเมื่อมีปัญหา

 

7.ของชำร่วยสำหรับเด็ก เช่น ผ้ารองจาน หรือผ้ากันน้ำลาย ที่มีการรณรงค์เกี่ยวกับการรักการอ่าน

 

นอกจากนี้คุณแม่ทุกคนที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่โครงการเป็นรายบุคคล เพื่อให้เข้าใจถึงความสำคัญของการอ่านหนังสือให้ลูกฟัง รวมถึงวิธีการเลี้ยงลูกด้วยหนังสือตั้งแต่วัยเยาว์ ถึงแม้ว่าพ่อแม่จะอ่านหนังสือไม่ค่อยออก ก็ทำให้ลูกรักและอ่านหนังสือเก่งได้

 

สำหรับประเทศญี่ปุ่นก็พบว่า สถิติการอ่านหนังสือของเด็กลดจนผู้ใหญ่ในประเทศเป็นห่วงอนาคตของเด็ก รัฐบาลญี่ปุ่นจึงนำบุ๊กสตาร์ตมาประกาศใช้ โดยให้ปี 2543 เป็น "ปีแห่งการอ่านของเด็ก"

 

สำหรับประเทศไทย มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก สโมสรไลออนส์และคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติได้ริเริ่มโครงการ "Bookstart Thailand" เปิดตัวโครงการไปเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2546 มีกลุ่มเป้าหมาย 200 ครอบครัว ในแต่ละครอบครัวจะได้หนังสือฟรี 3 เล่ม พร้อมกับกระเป๋า Bookstart Thailand โดยมีเจ้าหน้าที่ทำการวิจัยและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติคอยติดตามผล

 

รู้ไว้ไม่สูญเปล่า

 

สถิติคนไทยอ่านหนังสือ

 

สำนักงานสถิติแห่งชาติทำการสำรวจประชากรในปี 2544 ซึ่งได้สอบถามเรื่อง "การใช้เวลาในการอ่านหนังสือ" พบข้อสรุปเกี่ยวกับพฤติกรรมในการอ่านหนังสือของคนไทยที่น่าสนใจดังนี้

 

คนไทยอายุตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ใช้เวลาอ่านหนังสือโดยเฉลี่ยประมาณ 2.99 นาทีต่อวัน โดยวัย 10-14 ปี อ่านหนังสือน้อยที่สุด คือ 1.28 นาทีต่อวัน

 

ถ้าแยกประเภทตามวัย เพศ คนในเมือง และคนนอกเมือง พบว่า พฤติกรรมการอ่านหนังสือไม่แตกต่างกันมากนักในภาพรวม คืออ่านน้อยพอๆ กัน

 

ขณะที่คนกลุ่มผู้สูงอายุ ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเป็นกลุ่มที่อ่านหนังสือมากที่สุด

 

ในจำนวนกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด พบว่ามีผู้ที่อ่านหนังสือเพียง 4.4% ของทั้งหมด โดยคนในเขตเมืองอ่านหนังสือ 8.6% ส่วนคนในเขตชนบทอ่านเพียง 2.6%

 

ในจำนวนนี้ ผู้ที่อยู่ในวัย 10-14 ปี อ่านหนังสือเพียง 1.9% เท่านั้น

 

5วิธีสร้างจิตใจให้ลูกเข้มแข็ง

 

น.พ.ประเวศ ตันติพิวัฒนสกุล ผู้อำนวยการ สำนักพัฒนาสุขภาพจิต ได้ให้สูตรการเลี้ยงลูกให้เกิดความรักที่จะเรียนรู้ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นและสามารถแก้ปัญหาของตัวเองได้เมื่อยามที่ต้องเผชิญต่อสถานการณ์ที่เลวร้าย ว่า มี 5 คือ 1.พ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี ผู้ใหญ่จะต้องรักการเรียนรู้ให้เป็นตัวอย่าง 2.ต้องสอนลูกให้รักการอ่าน ทั้งนี้จากการวิจัยพบว่าพ่อแม่ที่อ่านหนังสือให้ลูกฟังก่อนลูกอายุ 1 ขวบ วันละ 15-20 นาทีต่อวัน จะบ่มเพาะให้ลูกเป็นเด็กรักการอ่าน 3.เด็กควรเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ชีวิตประจำวัน เช่น พาเด็กไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งสามารถแปลงมาเป็นบทเรียนได้ โดยที่เราไม่ต้องไปยัดเยียดความรู้ให้เขาเลย อย่างเวลาพาลูกไปเที่ยวสวนสัตว์ เด็กจะรับรู้เองว่า ไปกรงเสือ ควรระวัง เพราะเป็นสัตว์ดุร้าย 4.การจัดระเบียบชีวิต และสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ เพราะหลายครั้งพ่อแม่มักจะฝึกให้ลูกทำหลายสิ่งหลายอย่างในเวลาพร้อมกัน ซึ่งเป็นสิ่งไม่ดี พ่อแม่ควรจะฝึกให้เด็กทำทีละอย่าง เป็นการฝึกสมาธิ เช่น ที่รับประทานอาหารไม่ควรจะมีทีวีตั้งไว้ในบริเวณโต๊ะอาหาร ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ไม่ควรที่จะเปิดทีวี และ 5.การจัดให้เด็กเรียนรู้ตามความถนัด เด็กบางคนไม่ถนัดคณิตศาสตร์ อย่าลงโทษ เพราะจะทำให้เด็กเกิดความอาย จากจุดเล็กๆ นี้จะทำให้ลูกสูญเสียความมั่นใจในการเรียนรู้ พ่อแม่จึงควรค่อยเสริมจุดเด่นและแก้จุดด้อย ชมเชยเมื่อเขาได้ดี แต่อย่าตำหนิอย่างรุนแรงเมื่อเขาผิดพลาด

 

ที่มาของอัจฉริยะ4ขวบ

 

หากยังจำกันได้ น้องฝ้าย ด.ญ.ปัณฑารีย์ คลื่นสุวรรณ หนูน้อยวัย 4 ขวบ ได้สร้างความฉงนให้เกิดขึ้นกับสังคม เพราะเด็กน้อยคนนี้มีความรอบรู้เรื่องไดโนเสาร์จนถูกขนานนามว่าเป็นเด็กอัจฉริยะ ซึ่งวิธีการสร้างเด็กให้เชี่ยวชาญในเรื่องที่ผู้ใหญ่ยังยากที่จะกระทำได้นี้ต้องสอบถามจากนางจริยา คลื่นสุวรรณ ที่เป็นคุณแม่ ซึ่งนางจริยาบอกว่า จุดเริ่มต้นอาจจะมาจากคุณปู่ที่ซื้อตุ๊กตาสัตว์ต่างๆ มาให้ โดยคุณปู่จะสอนเรื่องประเภทของสัตว์ทั้งสัตว์เลี้ยง สัตว์ป่า จนมาถึงไดโนเสาร์ สิ่งที่ทำให้น้องฝ้ายเริ่มสนใจจริงๆ คือพาลูกสาวไปเดินที่งานหนังสือ น้องฝ้ายอยากได้หนังสือรวบรวมไดโนเสาร์มากถึงขนาดหยุดยืนอยู่นานและขอให้ซื้อ หลังจากนั้นจะคอยถือหนังสือมาถามว่าตัวนี้ชื่ออะไร เป็นอย่างไร จะจำได้เกือบหมด พอเริ่มเห็นว่าลูกสนใจก็พยายามสนับสนุน และที่สำคัญต้องพยายามเรียนไปพร้อมๆ กับลูก หาข้อมูลมาพูดคุย จนเดี๋ยวนี้ถ้าให้บอกลักษณะของไดโนเสาร์แต่ละพันธุ์ แต่ละยุคจะบอกได้แทบจะทั้งหมด ขณะนี้ได้นำน้องฝ้ายเข้าไปที่ศูนย์อัจฉริยภาพเด็ก สภากาชาดไทย เมื่อมาปรึกษาทางศูนย์ นักวิชาการสรุปว่า น้องฝ้ายมีแววโดดเด่นด้านวิทยาศาสตร์

 

การอ่านลดความก้าวร้าว

 

นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ เลขาธิการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก กล่าวว่า การอ่านทำให้เกิดจินตนาการ หนังสือไม่มีรูปภาพ มีข้อเขียน พออ่านแล้วจะคิดจินตนาการตามไป และการอ่านให้ความสุนทรีย์ ความละเอียดอ่อน เป็นพื้นฐานที่ดึงเด็กออกจากความรุนแรงได้ ซึ่งพฤติกรรมความรุนแรงของเด็กวัยรุ่นที่ชอบยกพวกตีกัน ส่วนหนึ่งเกิดจากการอ่านหนังสือน้อยและเลียนแบบพฤติกรรมรุนแรงจากสื่อประเภทที่เห็นภาพ อย่างละครผิดหวังก็ดื่มสุรา ขว้างแก้ว ตบตีผู้หญิง หรือแพ้ก็ต้องยกพวกไปตีกัน ขณะที่หนังสือส่วนใหญ่ไม่มีเล่มไหนที่สอนให้คนไปตีกัน แม้จะเป็นหนังสือที่รบราฆ่าฟันกัน มักจะลงท้ายว่า ธรรมะชนะอธรรม ถ้าอ่านดีๆ จะมีคำสอนอยู่ตลอด คนที่เขียนจะถ่ายทอดประสบการณ์ออกมา คนอ่านจะเรียนรู้ประสบการณ์จากหนังสือนั้นได้มาก จะเป็นการฟอร์มบุคลิกภาพของคนไปโดยไม่รู้ตัว

 

ส่วนวิธีปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้กับบุตรหลาน ต้องเริ่มจากผู้ปกครองก่อน และส่งเสริมให้ที่บ้านมีมุมหนังสือ ต้องลงทุนซื้อหนังสือให้มากขึ้น

หน้า พิเศษ 4







Copyright © 2005 All Rights Reserved. ครูภาษาไทยดีเด่น 2540 ครูต้นแบบกระบวนการเรียนรู้ 2545 (Teacher Award)กระทรวงศึกษาธิการ รางวัลคุรุสดุดี 2552
ร้านหนังสือ"บ้านครู"  ศูนย์รวมพลังแห่งปัญญา แหล่งศึกษา ค้นคว้า แนะนำหนังสือดีเด่น ควรอ่านเพื่อชีวิตและสังคม
www.kruthai40.com จัดทำโดย นายสุรินทร์ ยิ่งนึก ครูต้นแบบเครือข่ายครูไทย เชิงประจักษ์ ว.13 ครูภาษาไทยดีเด่น รางวัลคุรุสดุดี คุรุสภา surinkruthai@gmail.com