เรื่องสั้น ที่น่าอ่าน

 สนับสนุน โดยสินค้าคุณภาพสั่งออนไลน์ https://shopee.co.th/shop/325248129/search?page=0&sortBy=pop

จัดจำหน่ายภาชนะ และเครื่องครัวญี่ปุ่น / เครื่องครัวอาหารญี่ปุ่น /อุปกรณ์ทำซูชิ สำหรับร้านอาหารญี่ปุ่น อาทิเช่น มีดซาชิมิ มีดแล่ปลา ถ้วยซุปมิโซะ เครื่องครัวเมลามีน เครื่องครัวเซรามิก กล่องเบนโตะ ถังไม้ผสมข้าว ซูชิโอเกะ และอุปกรณ์เครื่องครัวสำหรับประกอบอาหารญี่ปุ่นนานาชนิดให้ท่าน   
  หรือที่เว็บไซด์ บริษัท ที่นี่ HACHANNA
ร้าน Hachanna (บริษัท ฮาจังนะ จำกัด) มีหน้าร้านไว้ต้อนรับทุกท่านที่ราษฏร์บูรณะ 29
เราจัดจำหน่ายเครื่องใช้ในครัว และอุปกรณ์ทำอาหาร สำหรับร้านอาหาร โรงแรมชั้นนำในประเทศไทย
ฮาจังนะเป็นพันธมิตรอย่างแนบแน่นกับผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าคุณภาพทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้ท่านได้วางใจในคุณภาพ
การันตีของแท้ นำเข้ามาอย่างถูกต้องจากโรงงานผู้ผลิตโดยตรง เพื่อส่งมอบเครื่องครัวที่มีคุณภาพ คุ้มค่า ราคาน่ารัก เพื่อรอยยิ้มของคุณลูกค้าทุกท่าน
      
 

ค. เรื่องสั้น


43. นิทานเวตาล - น.ม.ส. 




นิทานเวตาล
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2461
โดย น.ม.ส. (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์)
(พ.ศ. 2419 - 2488)

นิทานเวตาล จัดอยู่ในประเภท วรรณคดี นิทานร้อยแก้ว มีร้อยกรอง แทรกเป็นบางตอน
ต้นเค้าของนิทานเวตาล มาจากวรรณคดีอินเดียโบราณ ที่แต่งเป็นภาษาสันสกฤต
ชื่อ เวตาลปัญจวีศติ (คือ นิทานเวตาล 25 เรื่อง) ซึ่ง ศิวทาส กวีสันสกฤต แต่งไว้แต่โบราณกาล
มีความเก่าแก่ ก่อนพุทธกาล คือ เกินกว่า 2500 ปีล่วงมาแล้ว
แม้ว่า ฉบับของน.ม.ส. จะแปลเรียบเรียง จากฉบับภาษาอังกฤษ
แต่ก็กล่าวได้ว่า นิทานเวตาล ของน.ม.ส. มีที่มา จากขุมคลังภูมิปัญญา ตะวันออก (อินเดีย) โดยแท้จริง
และยังถือได้ว่า นิทานเวตาล มีที่มาแรกเริ่ม จากวรรณคดีมุขปาฐะ (Oral Literature)
เพราะเป็นนิทาน ที่เล่าสู่กันฟัง รู้จัก สืบทอด และเผยแพร่ กันอย่างกว้างขวาง หลายสำนวน
ผ่านกันมาหลายชั่วรุ่นคน นับเนื่องสืบมาหลายพันปี
นิทานเวตาล จึงเป็นหนังสือที่ใช้อ่าน เพื่อความสนุกเพลิดเพลินก็ได้
หรือจะนำมาใช้ศึกษา เพื่อเข้าใจโลกทัศน์ วิธีคิด สภาพสังคม พฤติกรรมมนุษย์
และภูมิปัญญาของชาวอินเดียโบราณ อย่างจริงจังก็ได้
คุณค่าของนิทานเวตาล จึงมิได้จำกัดเพียง เป็นประโยชน์ด้านวรรณคดีศึกษา
หากยังเป็นความรู้ ด้านคติชนวิทยาตะวันออก ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อความเข้าใจเรื่องวิถีเอเซีย
อันกำลังเป็นกระแสความสนใจ อย่างกว้างขวางอยู่ในปัจจุบัน



44. จับตาย : รวมเรื่องเอก - มนัส จรรยงค์ 




จับตาย และรวมเรื่องเอกของมนัส จรรยงค์
มนัส จรรยงค์
(พ.ศ. 2450-2508)

เรื่องสั้นที่นำมารวมอยู่ในเล่มนี้ ล้วนเป็นเรื่องเด่นๆ ที่มีแก่นเรื่องชัดเจน ในเรื่องของจิตมนุษย์นั้นไซร้ ยากแท้หยั่งถึง
สะท้อนถึงประสบการณ์ และความจัดเจน ในชีวิตของมนัส ที่มีโอกาสสัมผัส พบเห็น และคบหาคนหลากหลายชีวิต
หลากหลายสถานะ หลากหลายอาชีพ และหลากหลายฐานะ
เรื่องทุกเรื่องของมนัส มักจะสะท้อนถึงโลกทัศน์ หรือมุมมองชีวิตที่เขามีต่อโลก
และมีต่อเพื่อนร่วมโลก คือ เขาเป็นคนมองเห็น ความดีของมนุษย์ หรือมองโลกในแง่ดี
ไม่ว่ามนุษย์คนนั้น จะเป็นมหาโจร หรืออยู่ในคราบอื่น
เรื่องสั้นของมนัสส่วนใหญ่ มีการคิดถึงโครงเรื่องไว้อย่างดี มีการดำเนินเรื่อง ที่ชวนติดตาม
และมีจุดไคลแม็กซ์ มีความชัดเจนในสาร ที่ต้องการสื่อถึงผู้อ่านจากเรื่องของเขา

เรื่องจับตายนั้น มีแก่นเรื่องตรงที่ชี้ให้เห็นความขัดแย้งระหว่างมนุษยธรรม กับหน้าที่ และสายใยความผูกพันของมนุษย์
ต่างหน้าที่ที่เกิดขึ้น จากการอยู่ร่วมกัน คือ เจ้าหน้าที่กับนักโทษ

เรื่องซาเก๊าะ มีแก่นเรื่องที่ชี้ถึง ความละโมบ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ของมนุษย์
มักจะนำมาสู่ การต้องชดใช้กรรมของตน ฮะยีซะผู้เป็นเจ้าของซาเก๊าะ ได้ใช้สัญชาตญาณป่าของตนออกมา
ในรูปของการทรมาน ทารุณสัตว์ คือ วัวชนของตน
ซึ่งกลับมีสัญชาติญาณของความเป็นมนุษย์ คือ มีศักดิ์ศรี มีความกล้าหาญ มีจิตใจสง่างามกว่ามนุษย์เสียอีก
เรื่องนี้ จึงกินใจผู้อ่านมาก

เรื่องติดขวากน่าจะเป็นเรื่องสั้นที่สมบูรณ์ที่สุด ของมนัส จรรยงค์ ทั้งในเรื่องการใช้ภาษา
พรรณนาความได้ละเอียดลออ ประณีต ละเมียดละไม และกินใจมาก

ที่ห้องน้อยของเจ้านั้น มีหน้าต่างเล็ก ยามกลางคืนเดือนหงาย
เจ้าดวงก็แอบเอาลูกน้อยไว้กับอกตัว แล้วน้ำตาไหล อันลูกเขาอื่นนั้น เย็นย่ำค่ำแล้ว พ่อก็จะกลับมา
เสียงตวาดโคดื้อแตกฝูง ดังมาถึงหูลูก ในมือก็จะถือขดเชือก ที่ไปไว้ในป่า
จากป่า ก็จะคอนอาหารเล็กๆ น้อยๆ ทั้งกล้วยอ้อยที่ไร่ มาฝากลูก ตามประสาคนนา
แต่พ่อของเจ้าหนูน้อยนั้น ไม่มีวันเสียแล้ว ที่เขาจะกลับ เพราะว่ามันเป็นสมุนโจร ก็ได้แต่ชี้ให้ลูกน้อยนั้น ชมพระจันทร์
ปะเผื่อมันเผอิญ แลดูพระจันทร์ดวงเดียวกัน ขึ้นมาบ้าง
ก็คงจะเท่ากับว่า มันได้แลมา สบนัยน์ตาลูกเมียมันบ้าง สักครั้งหนึ่ง

แก่นเรื่องติดขวาก ชี้ถึงธรรมชาติ เบื้องลึกสุดของจิตใจมนุษย์
แม้จะเป็นโจรใจเจิ๊้ยม ก็ยังมีความดี ประจำใจบางอย่าง เช่น ความรักในลูกเมีย ความรักในลูกน้อง
แม้ว่าจะขัดแย้ง กับหน้าที่ หรือธรรมชาติ (ของโจร) ความรัก และความผูกพันนั้น จะมาก่อน และมีอำนาจ เหนือการตัดสินใจ

วรรณกรรมของมนัส เป็นวรรณกรรมสร้างสรรค์ที่อ่านแล้ว นอกจากทำให้ เกิดความเพลิดเพลินแล้ว
ยังทำให้เข้าใจชีวิต ทำให้เห็นอกเห็นใจชีวิตของบุคคล ที่อยู่ในสถานะยากลำบาก หรืออ่อนแอกว่า
แต่ขณะเดียวกัน ก็มักจะเสนอให้ ไม่สิ้นหวังเสียทีเดียวนัก ซึ่งสอดคล้องกับชีวิตจริง และบุคลิก อุปนิสัยของเขา



45. เรื่องสั้นของป. บูรณปกรณ์ (ชีวิตจากมุมมืด, ดาวเงิน) - ป. บูรณปกรณ์ 




เรื่องสั้นของ ป. บูรณปกรณ์
ดาวเงิน พ.ศ. 2493
ชีวิตจากมุมมืด 2495 (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2489)
ป. บูรณปกรณ์
(พ.ศ. 2447-2495)

เรื่องสั้นของ ป.บูรณปกรณ์ ที่ตีพิมพ์ ลงในนิตยสาร ปิยะมิตร สยามสมัย เริงรมย์ ฯลฯ ในรวมเล่มที่ชื่อ ดาวเงิน
ประกอบด้วย เรื่องสั้นจำนวน 19 เรื่อง ส่วนใหญ่ มีเนื้อหาเกี่ยวกับ ชีวิตของมนุษย์ ในสังคม
แสดงถึงการดำรงชีวิตของคนในเมือง อย่างเช่น เรื่องดาวเงิน เป็นเรื่องของนักเขียน ชื่อวิธานค์ กับดาวเงิน ผู้หญิง ที่ทำมาหากิน
ในตอนกลางคืน ทั้งสองคน บังเอิญพบกัน ขณะที่วิธานค์ มาพักรักษาตัว ที่ชายทะเล ด้วยวิถีชีวิตที่แตกต่าง
แต่ความศรัทธา ที่มีต่อวิธานค์ ทำให้ดาวเงิน หาเงินมาจุนเจือ เพื่อให้วิธานค์ สามารถเขียนเรื่องสร้างสรรค์ เรื่องสุดท้ายได้สำเร็จ
ก่อนที่จะเสียชีวิตลง เพราะสิ่งสำคัญ สำหรับวิธานค์ คือ งานและอุดมคติ

"มนุษย์ทุกคนเกิดมา ควรจะทำงาน และสร้างอุดมคติไว้ สำหรับผู้อื่นบ้าง
ถ้าทุกคนคิดแค่คืบ แค่ตัว โลกนี้จะฉิบหายวายวอด แหลกละเอียดไม่มีเหลือ"

ในรวมเล่ม ชีวิตจากมุมมืด มีเรื่องสั้นอยู่ 24 เรื่อง แนวการเขียนส่วนใหญ่ ในเล่มนี้
เป็นการเล่าเรื่องราวชีวิตอีกด้านของคนกลางคืน คนที่มีชีวิตอยู่ อย่างยากจนแร้นแค้น
แนวเรื่องส่วนใหญ่ มักจะเป็นเรื่องราวของชีวิตผู้คนธรรมดา การแสดงถึงมนุษยธรรมที่มนุษย์พึงมีให้ต่อกัน
รวมทั้งสัตว์ เป็นการแสดงความคิด แบบตรงไปตรงมา พร้อมไปกับ การแสดงเจตนาของผู้เขียน
ด้วยถ้อยคำพูด ที่ไม่ปรุงแต่งให้สวยงามนัก เพื่อแสดงให้เห็นภาพชัดเจน
ผู้อ่านส่วนใหญ่ อาจจะไม่ชอบ แนวการเขียนแบบนี้นัก
เพราะเรื่องราวของความยากจนขัดสน และการต้องดำรงชีวิตอย่างลำบาก
ในอีกมุมหนึ่ง ที่นำเสนอแบบนี้ ไม่ได้เป็นภาพที่สวยงามพอ โดยเฉพาะเรื่องของคนที่ต้องหากินตอนกลางคืน
คนที่หากินกับศพ หรือคนที่ยังชีพ ด้วยการเป็นขอทาน
แต่เสน่ห์ของเรื่องก็คือ ความจริงใจในการนำเสนอเรื่องราวที่ผู้อ่านจะสามารถรับรู้ได้เองนั่นเอง



46. เสาชิงช้า, เอแลนบารอง และเรื่องสั้นอื่นๆ ของ ส. ธรรมยศ 




เสาชิงช้า, เอแลนบารอง และเรื่องสั้นอื่นๆ ของ ส. ธรรมยศ
พิมพ์ครั้งแรก 2495 โดยสำนักพิมพ์กรุงเทพ
เอแลนบารอง และเรื่องสั้นที่สรรแล้ว พิมพ์ปี 2531 โดยสำนักพิมพ์ดอกหญ้า
ส. ธรรมยศ
(พ.ศ. 2457-2495)

งานเรื่องสั้น ของส.ธรรมยศ ซึ่งเป็นทั้งนักปรัชญา นักวิจารณ์วรรณกรรม และนักประวัติศาสตร์
เป็นงานที่น่าสนใจ ทั้งในแง่เนื้อหาสาระ และในแง่วรรณศิลป์
เรื่องสั้นของเขา มีรวมอยู่ในหนังสือชุด เสาชิงช้า พิมพ์ครั้งแรก 2495 รวม 8 เรื่อง
และรวมเรื่องสั้น เอแลนบารอง และเรื่องสั้นที่สรรแล้ว ซึ่งโครงการอนุรักษ์วรรณกรรมเก่าและหายาก ของสำนักพิมพ์ดอกหญ้า
คัดมาพิมพ์ รวม 15 เรื่อง
(มีเรื่องที่ซ้ำกับ เรื่องในเสาชิงช้า 4 เรื่อง 11 เรื่อง เป็นเรื่องที่ ยังไม่เคย รวมพิมพ์เป็นเล่ม)
นอกนั้น ก็มีกระจัดกระจายในนิตยสารต่างๆ ความคิดในเชิง วิพากษ์วิจารณ์ และความฝัน ของส.ธรรมยศ
มีทั้งเรื่องอยากให้เมืองไทย มีมหาวิทยาลัย สอนวิชาปรัชญา และศิลปศาสตร์
เพื่อให้คนมีวัฒนธรรม อยากให้เมืองไทย มีสภาวิจัย มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม เพื่อจะได้เจริญ เหมือนเมืองอื่น
เป็นความคิดความฝัน ที่น่าสนใจ แม้ความคิด ในเรื่องปรัชญา สำนักปฏิบัตินิยม (Pragmatism) ของเขา อาจจะล้าสมัยแล้วในปัจจุบัน
แต่ในสมัยที่คนไทย แทบไม่รู้จักปรัชญากัน นอกจากพุทธศาสนา ก็นับว่า เป็นการกระตุ้นความคิดของคนอยู่ไม่น้อย
สำนวนในการวิจารณ์ของเขา เผ็ดร้อน ชวนให้นึกถึง ส.ศิวรักษ์
และภาษาที่ใช้ในเรื่องสั้นของเขา ชวนให้นึกถึง รงค์ วงษ์สวรรค์
น่าเสียดายที่ ส.ธรรมยศ ต้องเสียชีวิต ด้วยโรควัณโรคปอด ในวัยเพียง 38 ปี
เพราะสมัยนั้นยาแพง และเขาก็ยากจน
แต่เขาก็ทิ้งงานที่มีคุณค่าไว้มากมายพอสมควร โดยเฉพาะงานด้านประวัติศาสตร์ ปรัชญา และวรรณกรรมวิจารณ์
อาทิ พระเจ้ากรุงสยาม, ศิลปะแห่งวรรณคดี, ชีวิตและงานของศรีปราชญ์, ปรัชญาศาสตร์, ศิลปะแห่งการวิจารณ์,
กศร. กุหลาบ, ตากสินมหาราช, ปรัชญาฝ่ายปฏิบัตินิยม ฯลฯ



47. พลายมลิวัลลิ์ และเรื่องสั้นบางเรื่อง ของถนอม มหาเปารยะ 




พลายมะลิวัลลิ์ และเรื่องสั้นบางเรื่อง
พ.ศ. 2489
ถนอม มหาเปารยะ
(พ.ศ. 2451-2504)

พลายมะลิวัลลิ์ เป็นนิยายขนาดสั้น ที่เด่นของถนอม มหาเปารยะ นักเขียนหญิง
ซึ่งมีผลงานในช่วงตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองจนถึงยุคจอมพลสฤษดิ์ พลายมะลิวัลลิ์
เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ ความรักของคนและสัตว์ ที่สะท้อนภาพการทำป่าไม้ที่ศรีราชา ในยุคก่อนได้อย่างดี

โครงเรื่องของ พลายมะลิวัลลิ์ เป็นนิยาย แนวโรแมนติค ที่เน้นอารมณ์มาก
แต่การบรรยายภาพที่สะท้อนให้เห็นถึงการดำรงชีวิตของคนในยุคสมัยนั้น
โดยเฉพาะสภาพชีวิต ผู้คนแถวศรีราชา การทำกิจการป่าไม้
ภาพของการดำรงชีวิต อยู่แบบชาวบ้าน อัธยาศัย และความมีน้ำใจของคนท้องถิ่น
ที่เกื้อหนุน หม่อมเจ้าสุริยา ให้ดำรงชีวิตอยู่ได้มีความสมจริงสูง
สิ่งที่ผู้เขียนพยายามเสนอ คือ ความรัก ความผูกพัน ระหว่างสายเลือด เป็นสิ่งที่ตัดไม่ขาด
แม้ว่าจะพบกับอุปสรรค หรือความไม่ราบรื่น บางประการก็ตาม
คนที่เป็นพ่อ ก็ยังรู้สึกถึงความรัก และความอาทร ที่ให้แก่ลูก ซึ่งเป็นสายโลหิต
โดยไม่คำนึงถึงความเป็นความตายของตัวเองแต่อย่างใด
ซึ่งต่างจากความรักของช้างมะลิวัลลิ์ ที่อาจเรียกได้ว่า เป็นความรักแบบหลง เพื่อเก็บเอาไว้เฉพาะตัว
ไม่ต้องการให้ใครเข้าใกล้คนที่ตัวเองรัก นอกจากตัวมันเอง
หรือไม่ต้องการให้คนที่มันรัก แสดงความรักแก่คนอื่นต่อหน้ามัน

นอกเหนือจากเรื่อง พลายมะลิวัลลิ์แล้ว ถนอม มหาเปารยะ ยังได้เขียนเรื่องสั้นอีกหลายเรื่องที่พิมพ์ในนิตยสารต่างๆ
ยังไม่ได้รวมพิมพ์เป็นเล่ม ที่นำมาแนะนำในที่นี้ เพื่อชี้ว่า เธอไม่ได้มีงานที่น่าสนใจ แค่พลายมะลิวัลลิ์เล่มเดียว
เรื่องสั้นหลายเรื่องของเธอมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับ ความสัมพันธ์ภายในครอบครัว
โดยเฉพาะพ่อกับลูกชาย เช่น เรื่อง โดยพระเดช (พ.ศ.2501) อันชนกชนนี (พ.ศ.2492) วันนี้ฉันมีความสุข (2492)

เรื่องสั้นของเธอ คือ มักจะเป็นเรื่องราว หรือชีวิตของผู้ที่เคยมีฐานะ แล้วต่อมา ประสบกับชะตากรรม ความยากลำบาก
ดังนั้น ตัวเอกของเรื่อง จึงมีลักษณะของคนที่มีฐานะ หรือการศึกษาดี มีความสุภาพ หรือการได้รับการขัดเกลาทางสังคม เป็นหลัก
แต่อย่างไรก็ตาม แนวความคิดที่แสดงออก จะแสดงถึง ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์ และมนุษย์ต่อสัตว์
ไม่ว่าเรื่องจะจบลง แบบสุขนาฏกรรม หรือโศกนาฏกรรมก็ตาม
นับเป็นนักเขียนผู้หญิง อีกท่านหนึ่ง ซึ่งสอดแทรกความรู้สึก เชิงมนุษยธรรม ไว้ในผลงานการประพันธ์
ไม่ได้เขียนเรื่อง แบบพาฝัน ที่อ่านเพื่อความสนุกเพลิดเพลินเท่านั้น



48. ผู้ดับดวงอาทิตย์ และเรื่องสั้นอื่นๆ - จันตรี ศิริบุญรอด 




ผู้ดับดวงอาทิตย์ และเรื่องสั้นอื่นๆ
พิมพ์ในนิตยสารวิทยาศาสตร์ มหัศจรรย์ ช่วงปี 2498-2503
รวมพิมพ์เป็นเล่มครั้งแรก โดยสำนักพิมพ์ดวงกมล 2521
จันตรี ศิริบุญรอด
(พ.ศ. 2460-2511)

จันตรี ศิริบุญรอด ได้ชื่อว่า เป็นบิดาแห่งงานเขียนบันเทิงคดี แนววิทยาศาสตร์ของไทย
เขียนเรื่องสั้นที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร "วิทยาศาสตร์-มหัศจรรย์" ในช่วงปี พ.ศ.2498-2503 ไว้ราว 20 เรื่อง
นอกจากนี้ ก็เขียนนิยายไว้อีก 13 เรื่อง อาทิ มนุษย์อัศจรรย์, หมอวิตถาร, ผู้สร้างอนาคต, นครสายรุ้ง ฯลฯ
ส่วนใหญ่เขียน และตีพิมพ์ ในยุคเดียวกัน

เรื่องสั้นของจันตรี ศิริบุญรอด สำนักพิมพ์ดวงกมล (โดยการสนับสนุนของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี) ได้นำมาพิมพ์รวมเล่ม 2 เล่ม
ในปีพ.ศ.2521 ในชื่อปกว่า "ผู้ดับดวงอาทิตย์" และ "มนุษย์คู่"

เรื่องสั้นที่เด่นมากของจันตรี คือ เรื่องผู้ดับดวงอาทิตย์ และหุ่นผู้สร้างมนุษย์
สำหรับเรื่อง "ผู้ดับดวงอาทิตย์" เป็นเรื่องเชิงจินตนาการเพ้อฝัน
กล่าวถึง ตูราและคาลิ นักวิทยาศาสตร์ 2 คน จากโลกพระอังคาร ซึ่งมีระดับความเจริญทางเทคโนโลยีสูงกว่าโลกมนุษย์
ถูกส่งให้ลงมาแก้ปัญหา การทดลองระเบิดปรมาณูในโลกมนุษย์
เพราะการทดลองระเบิดปรมาณูจำนวนมาก มีผลผลักดันให้โลกต้องโคจรออกไปนอกเส้นทาง
ทำให้ความสมดุลในจักรวาลเสียไป เมื่อเขาทั้งสองได้เดินทางมาถึงโลก โดยเวหาสยาน
(คำของคุณจันตรี ในสมัยที่ ยังไม่มีใครเรียกว่า ยานอวกาศ)
ก็ได้รับรู้ปัญหา ความละโมภ ของชนชาติต่างๆ ในโลกมนุษย์
นอกจาก การทดลองระเบิดปรมาณูแล้ว ก็มีการทดลองระเบิดเชื้อโรค,
การทำลายป่าไม้ ไร่นาทางภาคเหนือของไทย และพม่า ลาว ด้วยตัวยาเคมี
เขาทั้งสอง ได้ช่วยแก้ปัญหาให้แก่ประเทศไทยได้

เรื่องสั้นเรื่องนี้ ดีทั้งพล็อต และการดำเนินเรื่อง ดีทั้งความคิดที่เป็นอุดมคติ และก้าวหน้าถึงจะเป็นจินตนาการ
มากกว่าจะคำนึงความสมจริง แต่เรื่องที่เขียนเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ได้ขนาดนี้ ต้องนับว่าเยี่ยมมาก
เมื่อมองในบริบทของโลกในปัจจุบัน ก็จะพบว่า ความคิดฝันในเรื่องการสร้างสันติภาพ, การรักษาความสมดุลของธรรมชาติ
ยังเป็นสิ่งที่ทันสมัยอยู่มาก สำนวนภาษา ก็อยู่ในเกณฑ์ที่ดี



49. ยุคทมิฬ และเรื่องสั้นอื่นๆ ของ อิศรา อมันตกุล



เรื่องสั้นของอิศรา อมันตกุล
พิมพ์รวมในหนังสือรวมเรื่องสั้นหลายเล่ม (2495-2518)
อิศรา อมันตกุล
(2463-2512)

อิศรา อมันตกุล เป็นนักหนังสือพิมพ์ ประเภทนักอุดมคติที่มีชื่อเสียงในทศวรรษ 2490
และเป็นนักเขียนเรื่องสั้น และนิยาย ที่มีแก่นเรื่องที่เชิดชูระบอบประชาธิปไตย
เชิดชูศักดิ์ศรีของคนจน และศักดิ์ของความเป็นมนุษย์ ที่เป็นสากลนิยม เชิดชูการใช้แรงงาน
เชิดชูความถูกต้อง คัดค้านระบอบเผด็จการ คัดค้านการคอรัปชั่น คัดค้านนักการเมืองโกงกิน
และคัดค้านการเข้าครอบครองของต่างชาติ
เรื่องสั้นของเขา ได้รับการรวมเล่มตีพิมพ์ในชื่อต่างๆ เช่น หัวเราะและน้ำตา พิมพ์ในพ.ศ. 2511
ยุคทมิฬ (2 เล่ม) ครั้งแรก พ.ศ. 2495 ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2518
ไหว่ใครใช้มึงคิดกบฏ พ.ศ. 2539 เขาตะโกนหานายกรัฐมนตรี 2539
ภาวะของเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สิ้นสุดลง
เมื่อปีพ.ศ. 2488 ทำให้เกิดภาวะข้าวยากหมากแพงขึ้นทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทยด้วย
ทางด้านการเมืองนั้น รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ผู้นำพลังมวลชนกู้ชาติไทย ในนามของขบวนการเสรีไทย
ได้เพลี่ยงพล้ำถูกฝ่ายนายทหารบกกลุ่มหนึ่ง ก่อการรัฐประหารโดยการปั้นข่าวเท็จว่า
รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ มีส่วนเกี่ยวข้องในการเสด็จสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8
การรัฐประหาร ในปีพ.ศ. 2490 เป็นการเปิดศักราชของเผด็จการทหาร
และเป็นการเริ่มต้นของยุคทมิฬ งานเขียนของอิศรา อมันตกุลในช่วงนี้ คือ ระหว่าง พ.ศ. 2491-2494
จึงเป็นผลงาน ที่ทั้งสะท้อนภาพความเป็นเผด็จการการคอรัปชั่นโกงกิน การกดขี่ข่มเหง
และการเรียกร้องเสรีภาพแทนเสียงของปวงชน
เรื่องสั้นที่เด่นที่สุด และมีความสมบูรณ์ที่สุด ทั้งด้านวรรณศิลป์ และด้านเนื้อหา คือ เรื่องไหว่ใครใช้มึงคิดกบฏ
ซึ่งสะท้อนถึงจิตใจที่รักชาติ รักเอกราช และรักอิสรภาพของอิศราอย่างชนิดไม่มีการประนีประนอม
ดังที่เขาเขียนไว้ในเรื่องสั้นชิ้นนี้
ที่ใดที่เคยถูกกดขี่ ที่ใดที่เคยถูกทำลายล้างด้วยความไม่เป็นธรรม ที่นั่นแรงดันย่อมเกิดขึ้นเป็นพลัง
ซึ่งจะกระตุ้นรุนเร้า ให้เกิดการสร้างตัวเองขึ้นใหม่อย่างเข้มแข็ง เพราะว่าที่ใดที่ประชาชนตกเป็นขี้ข้า
ที่นั่น ความดิ้นรนที่จะได้เป็นตัวของตัวเอง ย่อมปะทุขึ้นมาอย่างมุมานะ




50. เรื่องสั้นชุดเหมืองแร่ - อาจินต์ ปัญจพรรค์



เหมืองแร่ ฉบับสมบูรณ์
ทยอยพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2497 - 2526
อาจินต์ ปัญจพรรค์
(พ.ศ. 2470 - )

อาจินต์ ปัญจพรรค์ ใช้ชีวิตในเหมืองแร่สองแห่งรวมสี่ปี และเขียนเรื่องสั้นชุด
ที่มีชื่อเสียงที่สุดของเขามากกว่าร้อยเรื่อง และเรื่องยาวอีกหนึ่งเรื่อง

นพพร สุวรรณพานิช เขียนถึงอาจินต์ไว้ว่า
"ทุกวันนี้ ชื่อของอาจินต์ ปัญจพรรค์ เทียบได้กับเหมืองแร่ของไทย ทุกครั้งที่เอ่ยชื่อเหมืองแร่
คำว่า อาจินต์กลายเป็นตำนานอีกชิ้นหนึ่ง ความเรียบง่ายในการเขียนทำให้งานของเขามีความกระชับ
แฝงด้วยเสน่ห์ และมองดูโลกด้วยสายตาที่มีคุณธรรม อย่างนักมนุษยธรรมโดยแท้ "และ
ชื่อของเขากลายเป็นไวพจน์ (synonym) ของเหมืองแร่ไปเสียแล้ว"
และนพพรสรุปว่า "ภาพที่นายอาจินต์เสนอเกี่ยวกับเมืองไทย เป็นประดุจมติที่สามของประวัติศาสตร์
ซึ่งนักประวัติศาสตร์ทั่วไป ไม่มีปัญญาเขียน และไม่ใช่หน้าที่โดยตรงของนักประวัติศาสตร์ ที่จะต้องเขียน"
อ่านเรื่องสั้นในชุดเหมืองแร่ของอาจินต์แล้ว นอกจากได้ความบันเทิง ยังได้รับรู้แง่มุมต่างๆ ของมนุษย์
ได้สัมผัสบรรยากาศชีวิตแบบไทยๆ ในปักษ์ใต้เมื่อสมัย 50 ปีก่อน
ได้รู้จักสำนวน และคำพังเพยของคนท้องถิ่น ทั้งยังได้แง่คิด และแฝงปรัชญาชีวิตไว้ด้วย



51. ฟ้าบ่กั้น - ลาว คำหอม 




ฟ้าบ่กั้น
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2501 โดยสำนักพิมพ์เกวียนทอง
พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2512 โดยสำนักพิมพ์ศึกษิตสยาม ของ ส. ศิวรักษ์
พิมพ์ครั้งที่ 9 พ.ศ. 2535 โดยสำนักพิมพ์กำแพง
ลาว คำหอม
(พ.ศ. 2473 - )

เรื่องสั้นของ "ลาว คำหอม" (คำสิงห์ ศรีนอก 2473- )
โดยเฉพาะในยุคแรก 2501-2505 มีลักษณะเด่นร่วมกันอยู่อย่างหนึ่ง
คือ เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงภาพชนบทที่ยากไร้ ขมขื่น งมงาย อย่างตรงไปตรงมา
และมีอารมณ์ขัน เป็นภาพพจน์แบบเห็นอกเห็นใจ เย้ยหยันตนเอง
เพราะ "ลาว คำหอม" เองเกิด และเติบโตมาจากชนบท ที่เขาเขียนถึงในหลายเรื่องหลายตอน
"ลาว คำหอม" เขียนด้วยอารมณ์ขันอย่างมีศิลปะ และทำให้มันเป็นเรื่องที่ขมขื่น
เจ็บปวดมากขึ้นสำหรับคนอ่านที่ช่างคิด
ศิลปะในการเขียนของ "ลาว คำหอม" เป็นการเขียนเรื่องแบบสมัยใหม่
คือ ให้เรื่องดำเนินไปเอง แทนที่จะบอกผู้อ่านทุกสิ่งทุกอย่าง ก็ให้ผู้อ่านได้ค่อยๆ ได้รู้เรื่องไปทีละน้อย
เรื่องที่มีลักษณะของเรื่องสั้นที่ดีมากเรื่องหนึ่งของเขา
คือ "เขียดขาคำ" คือ ดีทั้งโครงเรื่อง สำนวน เนื้อหา
ถึงแม้จะเป็นการเย้ยหยันธรรมชาติ เย้ยหยันรัฐบาล อย่างขมขื่น โดยไม่ได้เสนอทางออกหรือความหวังอะไร
แต่ก็ได้ให้ภาพพจน์ที่สะเทือนใจ พอที่เราคิดกันต่อไปได้ว่า
สภาพเช่นนี้เป็นสภาพที่น่าสังเวช ควรเปลี่ยนแปลงแก้ไขอย่างไม่ต้องสงสัย
เรื่องสั้นส่วนใหญ่ของ "ลาว คำหอม" แม้จะพูดถึงคนยากจนอย่างเห็นใจ
แต่ก็ไม่ได้เขียน โดยใช้ท่วงทำนองแบบวรรณกรรม เพื่อชีวิตที่มุ่งชี้ทางออก
หากมีลักษณะเป็นการเย้ยหยันธรรมชาติ เย้ยหยันวัฒนธรรมที่ล้าหลัง เเละเย้ยหยันชนชั้นปกครองเสียมากกว่า
เช่น เรื่อง "คนพันธุ์" ซึ่งเย้ยหยันการเห่อฝรั่ง "คนหมู" เย้ยหยันนักพัฒนาจากเมือง "นักกานเมือง" เย้ยหยันผู้แทน เป็นต้น
มีบางเรื่อง ซึ่งสะท้อนให้เห็นการกดขี่ของนายทุน เช่น "ชาวไร่เบี้ย"
แต่ก็ไม่ได้เสนอหรือแนะทางออก เรื่อง "ไพร่ฟ้า" จะมีแนวคิดก้าวหน้ามากกว่าเพื่อนตรงที่ผู้ถูกกดขี่ได้ต่อสู้กับคนชั้นสูง
แย่งคู่รักของเขาไปอย่างถึงเลือดถึงเนื้อ แม้ว่าจะจบค่อนข้างเศร้า ตรงที่ผู้ถูกกดขี่ต้องพลอยเสียชีวิตไปด้วย
เรื่องสั้นของ "ลาว คำหอม" ซึ่งผู้เขียนเล่าเองภายหลังว่า
"เขียนขึ้นมาด้วยความรู้สึกว่า ตนเองกำลังเขียนคำร้องทุกข์ ให้ชาวไร่ชาวนา ซึ่งเป็นพลเมืองส่วนใหญ่
ด้วยเจตนาจะเรียกขานมโนธรรมของชาวเมือง"
จัดว่าเป็นวรรณกรรมประเภทอัตถนิยม ที่เปิดโปงความเลวร้าย ความไม่ยุติธรรมในสังคมอย่างถึงแก่น
แม้บางเรื่องจะคล้ายกับเป็นเรื่องอ่านสนุกๆ เช่น "หมอเถื่อน"
แต่ก็ชี้ให้เห็นสภาพทุกข์ยากของประชาชนในชนบท ได้มากกว่านักเขียนเรื่องชนบทบางคน
เช่น มนัส จรรยงค์ หรือ รงค์ วงษ์สวรรค์ ผู้มักมองชนบทแต่ในแง่รื่นรมย์เสียมากกว่า



52. ชุดเพื่อนนักเรียนเก่า เพื่อนเก่า - เสนอ อินทรสุขศรี



เพื่อนเก่า
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2509
เสนอ อินทรสุขศรี

หนังสือเรื่องเพื่อนเก่านี้ แบ่งออกเป็น 2 เล่ม มีเรื่องทั้งหมดด้วยกัน 11 เรื่อง
ความดีเด่นของหนังสือทั้ง 2 เล่มนี้ คือ เป็นการบันทึกภาพชีวิตของยุคสมัยหนึ่ง
ที่ผู้เขียนยังเด็กอยู่ โดยผู้เขียนได้บันทึกวิถีชีวิตของเด็กๆ ไว้อย่างละเอียด
ทำให้ได้ภาพสังคมที่กำลังถูกลืมเลือนไป แต่ที่สำคัญที่สุด คือ บุคลิกตัวละครที่เสนอ อินทรสุขศรี
สร้างขึ้นมาหรือบันทึกขึ้นมาจากชีวิตจริงของเพื่อนเก่าบางคนนั้น
กลับเป็นชีวิตที่มีตัวตนอยู่ในสังคมปัจจุบัน
แม้ว่าเวลาที่ผู้เขียนเขียนถึงนั้นจะผ่านไปแล้วกว่า 30 ปี แล้วก็ตาม
บุคลิกตัวละครเหล่านั้น มีทั้ง คนโกง คนเอาเปรียบเพื่อนฝูง คนเอาเปรียบสังคม
หรือคนที่ถูกสังคมเอาเปรียบ แล้วแต่อาชีพของแต่ละคนไป
หนังสือชุดนี้ คือ มีแก่นเรื่อง ที่มองคน และมองโลกในแง่ดี มีความเชื่อมั่นในความเป็นคน
และเข้าใจคน ผู้เขียนเขียนได้อย่างมีอารมณ์ขันที่ลุ่มลึก โดยเฉพาะการใช้วิธีการเขียนในสไตล์เสียดสี
เช่น ครั้งนั้น ตลอดเมืองไทยกำลังครึกโครมอยู่ด้วยเสียงโฆษณา
วันหนึ่งผมลองเปิดเครื่องวิทยุฟัง แล้วลองทำสถิติโดยการหมุนหาคลื่นของสถานีต่างๆ
หมุนไปหมุนมาเป็นเวลา 3 ชั่วโมง ปรากฏว่าผมได้ยินชื่อยาที่ไม่ซ้ำกันเลยนั้น 78 ขนาน
ผมคิดว่าถ้าขืนฟังต่อไปอีก จะกลายเป็นวิธีล้างกระเพาะอาหาร
ด้วยการนำเอาเสียงมาประยุกต์ใช้งานทางวงการแพทย์
แทนสายยางล้างกระเพาะอาหารก็อาจเป็นได้ จึงเลิกฟังเสีย



53. รวมเรื่องสั้นบางเรื่องของฮิวเมอร์ริสต์ - ฮิวเมอร์ริสต์ 




รวมเรื่องสั้นบางเรื่องของฮิวเมอร์ริสต์
พิมพ์ครั้งแรก องค์การค้าคุรุสภา, 2516
ฮิวเมอร์ริสต์ (อบ ไชยวสุ)
(พ.ศ.2444-2540)

ทีเด็ดของฮิวเมอร์ริสต์อยู่ที่วิธีคิด และผลแห่งการขบคิดของเขาเอง อย่างเช่น
เรื่องสั้น 7 เรื่อง ที่ได้คัดเลือกมารวมอยู่ในรวมเรื่องสั้นของฮิวเมอร์ริสต์”นี้
เป็นตัวอย่างงานชิ้นเอก ที่แสดงทัศนะอันเฉียบแหลม
ด้วยสายตาที่สังเกตการณ์สังคมอย่างใกล้ชิด ในอารมณ์แสนสบาย
ฮิวเมอร์ริสต์เป็นผู้ซึ่งรู้สึกว่า สังคมไทย ซึ่งก้าวไปสู่ความเป็นสมัยใหม่
และเป็นแบบตะวันตกนี้ ปราศจากรากฐานแห่งความเข้าใจสิ่งใหม่นี้อย่างถ่องแท้
ขาดความเข้าใจ และกระทั่งขาดสติที่จะวินิจฉัย ผู้คนเฮโลกันไปกับการเปลี่ยนแปลง
โดยปราศจากการยั้งคิด คนในสังคมกำลังใช้ชีวิตหยาบลง และการดำเนินไปของสิ่งต่างๆ
เริ่มไร้สาระ สิ่งใหม่ไม่ได้งอกงามมาจากของเดิม เต็มไปด้วยการก้าวกระโดดข้ามไปมา
บนทางอันสับสนอย่างลวกๆ สุกเอาเผากิน และไร้เหตุผลมากขึ้นเรื่อยๆ
ผู้คนในสังคมไทยดูจะพอใจหรือยอมจำนนที่จะอยู่ (กับ) สังคมแบบนี้ไป
เพราะไม่มีทางจะเลือกหรือขี้เกียจเลือก ร
วมทั้งยังมีพวกที่มีแต่หาทางฉกฉวยโอกาส จากการไร้ทางเลือกของผู้อื่นอีกด้วย
ฮิวเมอร์ริสต์ยืนอยู่ท่ามกลางสังคมในยุคสมัย ที่ความสุขสงบของผู้คนมีน้อยลงเรื่อยๆ และปัญหากลับมีมากขึ้น
เขาให้ข้อสังเกตโดยการวาดภาพเมืองไทย ที่เต็มไปด้วยความฟุ้งเฟ้อ เห่อเหิม อำนาจมีลักษณะทวิอย่างเต็มที่
ระหว่างใต้ดินกับอำนาจถูกกฎหมาย หากแต่ฉ้อฉลทั้งคู่เศรษฐกิจที่คนรวยเหนือกว่าคนจนอย่างเห็นได้ชัด
รัฐบาลมอมเมาประชาชน โดยการออกล๊อตเตอรี่ ขณะที่การบันเทิงก็โน้มเอียงไปสู่ เมโลดรามาอย่างสุดตัว
นักแสดงไม่ว่าตัวเอก ตัวร้ายทำท่าทางโอเวอร์เหมือนคนวิกลจริต
ในบรรดาหมู่ผู้มีอำนาจนั้น วางอำนาจกร่างไปทั่วบนท้องถนนการจราจรไร้ระเบียบสิ้นดี และโสเภณีนั้นเล่าเกลื่อนเมือง
ฮิวเมอร์ริสต์ได้ตีแผ่ให้เห็นเนื้อในของสังคมไทยว่า ระบบต่างๆ นั้น มีวางไว้หมดแล้วทั้งสิ้น แต่ไม่จำเป็นต้องมีการปฏิบัติ
รูปแบบของสิ่งทั้งปวง ไม่สามารถหรือหมดความสามารถที่สะท้อนเนื้อหาภายใน
ตลกร้ายอันคมคายของฮิวเมอร์ริสต์นั้น มีใจความตอนหนึ่งว่า
ไทยนิยมใช้ของฟุ่มเฟือยกันตลอดเวลา ที่มีเงินทองบิดาหรือเตี่ยสะสมสำรองไว้มีอยู่ (หน้า 49)
ระเบียบการครองชีพของไทยแลนด์ดีที่หนึ่งในโลกยังงี้เลย (มีภาพยกหัวแม่มือประกอบ)
แต่มีอีกหลายประเทศเหลือเกิน ซึ่งที่หนึ่งกว่าและที่หนึ่งที่สุด เวลานี้ลดลงมาลดลงมาลดลงมาทุกที
จนค่าเกือบจะไม่มีเหลือ สำหรับจะครองชีพแล้ว และอีกประการหนึ่งเมื่อประกาศลดค่าครองชีพ
สิ่งซึ่งจะได้มาด้วยค่าที่ลดแล้วก็ลดปริมาณลงด้วย เพราะฉะนั้นถ้าลดค่าครองชีพลงได้ถึงที่สุด
ชีพก็อาจถึงที่สุดได้ด้วยเหมือนกัน (หน้า 49)
พรายม์มินิสเตอร์ทำถนนหนทางสวยดี ใครอยากให้ถนนทางไหนดีขึ้นก็เชิญพรายม์-มินิสเตอร์ผ่านไปทางนั้นบ่อยบ่อย
ผู้สวมเครื่องแบบถืออาวุธก็มีวินัยดี ไม่ทำอะไรวุ่นวาย อื้อฉาวเหมือนประเทศอื่น
เสียแต่มีผู้แต่งเครื่องแบบปลอมไปปล้นจี้เขาบ่อยไปหน่อย (หน้า 51)



54. ฉันจึงมาหาความหมาย - วิทยากร เชียงกูล 




ฉันจึงมาหาความหมาย
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2514
วิทยากร เชียงกูล
(พ.ศ. 2489 - )

ฉันจึงมาหาความหมาย เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้น บทละคร และบทกวี
ที่ผู้เขียนเขียนขึ้นในขณะที่เป็นนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ช่วงปี 2508 - 2512 หนังสือเล่มนี้ ได้มีบทบาทเป็นหลักเขตทางความคิดในยุคแห่งการแสวงหาคำตอบของชีวิตมหาวิทยาลัย
และการตั้งคำถามต่อระบบสังคม ชีวิตทางสังคม และการพัฒนาเศรษฐกิจและการเมือง
ในยุคมืดทางปัญญา ที่สืบเนื่องติดต่อกันมาตั้งแต่ การปฏิวัติของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี พ.ศ. 2501
แก่นเรื่องของเรื่องสั้น และบทละคร นอกจากจะสะท้อนความคิด
และการตั้งคำถามต่อชีวิตมหาวิทยาลัย ต่อสังคมชีวิตทางสังคม
และการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และการเมืองที่ก่อให้เกิดความแตกต่าง
และช่องว่างทั้งระหว่างเมืองกับชนบท และคนมั่งมีกับคนยากไร้ ให้แตกต่างห่างออกไปยิ่งขึ้นนั้นแล้ว
ยังเป็นตัวแทนที่สะท้อนความคิดของยุคสมัยของคนหนุ่มสาวในมหาวิทยาลัยจำนวนไม่น้อยในยุคนั้น
ทั้ง "กระตุ้น" ให้ความคิด และการตั้งคำถามในหนังสือ
ฉันจึงมาหาความหมาย กระจายแพร่หลายออกไปในหมู่นักเรียนนักศึกษา
จนพัฒนากลายเป็นขบวนการนักศึกษาประชาชนในเวลา 2-3 ปีต่อมา คือ ขบวนการ 14 ตุลาคม 2516
หนังสือเล่มนี้ มีส่วนและเป็นปัจจัยทางอ้อม ปัจจัยหนึ่งในหลายๆ ปัจจัย
ที่นำมาสู่เหตุการณ์ การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์ ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2516
จุดเด่นในความคิด และการตั้งคำถามในเชิงแสวงหา
ในหนังสือฉันจึงมาหาความหมายอยู่ที่บทกวี และกลอนเปล่า
ซึ่งมีวรรคทองที่ยังจดจำกันมาจนถึงทุกวันนี้ นั่นคือ

ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง
ฉันจึง มาหา ความหมาย
ฉันหวัง เก็บอะไร ไปมากมาย
สุดท้าย ให้กระดาษ ฉันแผ่นเดียว
(จากบทกวี ชื่อ เพลงเถื่อนแห่งสถาบัน)



55. คนบนต้นไม้ - นิคม รายวา 




คนบนต้นไม้
พิมพ์ในนิตยสาร ในช่วงปี พ.ศ. 2510-2516
นิคม รายยวา
(พ.ศ. 2487- )

หนังสือรวมเรื่องสั้นจำนวน 13 เรื่อง รวมทั้งเรื่องคนบนต้นไม้
ซึ่งเป็นเด่นเรื่องหนึ่งในหนังสือเล่มนี้ เรื่องสั้นเหล่านี้ เคยตีพิมพ์ในวารสารรายคาบ
ในช่วงปีพ.ศ. 2510-2519 ก่อนที่นำมารวมตีพิมพ์เป็นเล่มภายหลัง
(ปี 2527 โดยสำนักพิมพ์ต้นหมาก)
เรื่องสั้นของนิคม รายยวา มีความเด่นในเรื่อง การสร้างโครงเรื่อง และการใช้ฉาก (Setting)
จากธรรมชาติ สภาพภูมิประเทศ และธรรมชาติชีวิตของสัตว์
ควบคู่ไปกับการใช้ประสบการณ์จริงของชีวิตของเขา ที่ได้ไปสัมผัสต่อสู้มา ในการไปบุกเบิกทำงานการเกษตรอยู่กับชาวบ้าน
ได้คลุกคลี และได้เห็นชีวิตของคนหลายๆ แบบ ที่โยกย้ายจากถิ่นฐานต่างๆ มาเพื่อเป้าหมายเดียวกัน
คือ เพื่อแสวงหางานสักอย่าง ทำเพื่อที่จะได้มีรายได้มาประทังชีวิตหรือธรรมชาติของการต่อสู้กับธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
ความขัดแย้งของจิตสำนึก และความต้องการทางวัตถุทรัพย์สิน เพื่อความอยู่รอดหรือกิเลสกับความโลภ
ข้อเด่นอีกข้อหนึ่งของนิคม คือ เขาเป็นนักคิด และเขียนหนังสืออย่างมีเป้าหมาย
และด้วยภูมิหลังการศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์มา ทำให้เขาสะท้อนชีวิต และการต่อสู้ทางเศรษฐกิจของตัวละครออกมาอย่างลึกๆ
ตัวละครไม่ได้ล่องลอยอยู่ในความคิดนั้น แต่เป็นคนจริงๆ ที่ต้องทำมาหากิน ต่อสู้กับการทำมาหาเลี้ยงชีพ
เป้าหมายที่นิคมต้องการสื่อกับผู้อ่าน คือ บทสรุปของปรัชญาชีวิตที่เขาประสบพบเห็นมาในชนบท
เขามักเสนอภาพหรือสมการของความขัดแย้ง ระหว่างสองสิ่งออกมาเสมอ และทางออกหรือคำตอบของสมการ
มักจะออกมาอย่างสมจริงกับธรรมชาติที่แท้จริงของมนุษย์ที่เห็นแก่ตัว เห็นแก่ผลประโยชน์ และมุ่งเอาตัวรอดก่อนอื่น
โดยที่บางครั้งต้องทำลายชีวิตที่อ่อนแอกว่าหรือการถูกทำลาย ด้วยวิถีหรือกฎธรรมชาติ ซึ่งไม่เข้าข้างใคร
เช่น เรื่องมากับลมฝนหรือไม่ก็ต้องแลกด้วยความสูญเสียของบุคคลที่ตนรักก็ตาม
ซึ่งตามกันข้ามกับนักเขียนแนวพาฝัน
ตัวอย่างของเรื่องสั้นที่เสนอภาพความขัดแย้งนี้ คือ เรื่องเป็นลม เรื่องเช้าวันหนึ่ง และเรื่องคนบนต้นไม้ เป็นต้น


_________________
ปลูกต้นรักเต็มลานบ้านไร้รัก
คอยให้คนมาทักมาถามหา
ยังไม่มีแม้เงาเฝ้ารอมา
จนดอกรักโรยราคาต้นรัก

หรือว่ารักไร้ค่าราคาถูก
จะได้ปลูกต้นโศกต้นอกหัก
ให้หัวใจคนจรมาผ่อนพัก
พอได้ทักได้ทายหัวใจกัน