นิยาย ที่น่าอ่าน

 ข. นิยาย 

16. ละครแห่งชีวิต - ม.จ. อากาศดำเกิง รพีพัฒน์ 




ละครแห่งชีวิต
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2472
ม.จ. อากาศดำเกิง ระพีพัฒน์
(พ.ศ. 2448 - พ.ศ. 2475)

ละครแห่งชีวิต เป็นนวนิยายที่ตีพิมพ์ครั้งแรก ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 3 ปี
และเป็นหนังสือที่ก่อให้เกิดผลสะเทือนในหลายวงการ ในวงวรรณกรรม
หนังสือเล่มแรกของหม่อมเจ้าอากาศดำเกิง ระพีพัฒน์ ถือกันว่า เป็นนวนิยายที่ใช้ฉากในประเทศ และต่างประเทศ เป็นเรื่องแรก
ทั้งยังเป็นเรื่องเศร้า รักไม่สมหวัง ซึ่งก็เป็นเรื่อง แหวกแนวนิยมในยุคนั้น
นอกจากนั้น ยังเป็นหนังสือที่ปลุกกระแส การวิจารณ์หนังสือ เป็นที่ลือลั่นในยุคนั้น

อิทธิพลของละครแห่งชีวิต ต่อวงการวรรณกรรมไทย มีมากทีเดียว
นักอ่านหลายท่าน ให้ความเห็นว่า หนังสือเล่มนี้ เป็นต้นแบบของนวนิยาย ชีวิตต่างแดน
และมีผลต่อ นักประพันธ์ร่วมสมัย ของหม่อมเจ้าอากาศดำเกิงเอง
เช่น กุหลาบ สายประดิษฐ หรือศรีบูรพา ในเรื่องข้างหลังภาพ และสด กูรมะโรหิต ในเรื่อง ปักกิ่งนครแห่งความหลัง
และนักเขียนรุ่นต่อมา คือ เสนีย์ เสาวพงศ์ ในความรักของวัลยา
มาจนถึงนักเขียนยุคปัจจุบัน เช่น ถนนไปสู่ก้อนเมฆ ของ ธัญญา ผลอนันต์
นอกจากวงวรรณกรรมแล้ว ละครแห่งชีวิตก็มีส่วนช่วยดึงดูดให้เยาวชนคนหนุ่มสาวเป็นจำนวนมาก
ใฝ่ฝันอยากจะเป็น นักหนังสือพิมพ์ และมองงานนักหนังสือพิมพ์ว่า เป็นงานที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี



17. กามนิต - เสฐียรโกเศศ, นาคะประทีป 




กามนิต : ภาคบนดินและภาคบนสวรรค์
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2473
เสฐียรโกเศศ (2431-2512) - นาคะประทีป (2432-2488) แปล

กามนิต เป็นงานที่เสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป แปลเรียบเรียงจากฉบับแปลภาษาอังกฤษ ของจอห์น. อี. โลจี (John E. Logie) จากเรื่อง The Pilgrim Kamanita
ที่แปลจากบทประพันธ์ ภาษาเยอรมัน ของคาร์ล อดอล์ฟ เจลลิรูป (Karl Adolph Gjellerup) กวีและนักเขียนชาวเดนมาร์ค (พ.ศ.2400-2462)
ผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม พ.ศ.2460 ฉบับภาษาไทย จัดพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2473

ถึงกามนิต จะเป็นวรรณกรรมแปล เรียบเรียงมาจากภาษาอื่น
แต่ด้วยความปรีชาชาญทางภาษา และความรู้เรื่องต่างๆ อันเนื่องด้วยข้อความแปล ของผู้แปลทั้งสอง ผู้เป็นปราชญ์ทางภาษา และวัฒนธรรมของไทย
รวมทั้งเป็นเรื่องเกี่ยวกับพุทธศาสนาและประเทศอินเดียที่คนไทยคุ้นเคย
ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องแปล กลายเป็นเรื่องไทย ซึ่งอ่านได้สนิทใจ

คำปรารภของ ส. ศิวรักษ์ ในหนังสือ กามนิต วาสิฏฐี ฉบับสำนักพิมพ์ศยาม พ.ศ.2534
(คำปรารภนี้ เขียนเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2520) มีความบางตอนว่า

คุณค่าของกามนิต ในทางวรรณคดีนั้น ไม่เป็นที่กังขา
แต่คนส่วนใหญ่สมัยนี้ คงไม่ทราบว่า หนังสือนี้ เป็นหัวเลี้ยวที่สำคัญในทางวรรณกรรมไทย ฝ่ายพระพุทธศาสนาด้วย
ผู้ใหญ่เล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น ปัญญาชนสมัยนั้น เริ่มรู้สึกแล้วว่า ไม่มีหนังสือสมัยใหม่ สอนพระพุทธศาสนา แก่คนรุ่นใหม่.....
พอกามนิตเผยร่างออกมา ทางสำนักไทยเขษม ปัญญาชนในสมัยนั้น ก็เลยโล่งอกไปว่า
ในรัชกาลที่เจ็ดมีหนังสือดี ในทางพระศาสนา ปรากฏออกมาแล้ว .....

แก่นอันเป็นคุณค่า ของเรื่องกามนิต คือ ความรัก ความทุกข์จากรัก และดับทุกข์ด้วยธรรมมะ
นวนิยายนี้ เป็นงานโรแมนติก อันมีความลึกซึ้ง รสรักทางวรรณกรรม ได้เจือธรรมรสเข้าด้วยกัน
กลมกลืน ทรงพลัง ประทับใจ มิใช่งานประพันธ์ดาดๆ สำหรับชั่วเวลาสักระยะหนึ่ง
งานวรรณกรรมเรื่องนี้ จึงอยู่ในเกราะกำบัง ของกาลเวลา เนื่องจากความถึงพร้อม ของเนื้อหา และรูปแบบศิลปะ



18. ดำรงประเทศ - เวทางค์ 




ดำรงประเทศ
ฉบับพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2474
โดย เวทางค์
(พ.ศ. 2451-2522)

ดำรงประเทศ เป็นจินตนิยายของเวทางค์ หรือนามจริงร้อยตรีทองอิน บุณยเสนา (ยศเวลานั้น)
ที่เสนอปรัชญาการเมืองในแนวธรรมาธิปไตย ท่ามกลางกระแสประชาธิปไตยที่นำเข้ามาจากตะวันตก กำลังพัฒนาอย่างทวีความเข้มข้นในสังคมไทย
จนเป็นเหตุนำไปสู่ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในปีต่อมา (พ.ศ.2475) โดยการอภิวัฒน์ ของคณะราษฏร

ดำรงประเทศ เป็นจินตนิยายที่ลุ่มลึก ทางปรัชญาการเมืองแบบตะวันออก
เนื้อหาสาระและบทสนทนาของตัวละครสำคัญ ชึ้ให้เห็นเด่นชัดว่า
เป้าหมาย หรือจุดมุ่งหมายของรัฐ หรือการปกครอง คือธรรมะ
"เป็นการปกครองโดยธรรม เพื่อความเป็นธรรมของราษฎร"

ความก้าวหน้าทางความคิด ที่อิงกับสัจธรรม หรือธรรมะในพุทธศาสนา ดังกล่าวนี้
มีอยู่มากมาย ดังจะเห็นได้จากตัวอย่าง เช่น เจ้าหญิงกนกเลขา ทรงตระหนักว่า
การที่พระองค์ ทรงอยู่อย่างสุขสมบูรณ์ ไปทุกสิ่งทุกอย่าง มีชีวิตอย่างสุขสำราญ ในปราสาทราชวัง ราชอุทยาน
และแวดล้อมด้วยนางกำนัลนั้น คุณค่าของพระองค์

"เป็นเพียงดอกไม้ ที่ล้อมรอบไว้ ด้วยความอับเฉา
เป็นเพียงหุ่นของการเมือง และเป็นเพียงรูปปั้นอันงาม ที่มีไว้สำหรับ ประดับพระราชวัง หรือบ้านเมือง
แต่จะหาคุณค่าอะไรให้มากไปกว่านั้น อีกไม่ได้
ไม่มีความรู้สึก ไม่มีหัวใจ นอกจาก มีแต่ความเปลือง ในค่าบำรุงรักษา
มากกว่าสิ่งอันใด ทั้งหลายทั้งนั้น
ซึ่งค่าบำรุงรักษาเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นน้ำแรงของชาวเทวะปุระทั้งสิ้น
คิดดังนั้นแล้ว เจ้าหญิงทรงพระกรรแสง อย่างมีความเจ็บช้ำ อย่างหนักที่ดวงใจ และที่หน่วยตา
และทั้งๆ ที่ทุกสิ่ง ที่ล้อมพระองค์ อยู่โดยรอบนั้น เต็มไปด้วยความเกษม
เต็มไปด้วยความหอมหวน และเต็มไปด้วย พิภพแห่งอุทยานสวรรค์"

ดำรงประเทศ เป็นจินตนิยายทางความคิดที่สำคัญ
นอกจากเรื่องจะสนุก ภาษาจะดีแล้ว ยังเสนอปรัชญา การปกครอง ชีวิต และสงคราม
ที่แอบอิงปรัชญาพุทธศาสนา เป็นแกนกลาง และจบลงด้วยธรรมะชนะอธรรม
สงครามระหว่างสายเลือด ยุติลงด้วยการไม่จองเวร และคุณความดี
ซึ่งเป็นความคิดที่ก้าวหน้ากว่า ชนชั้นนำของไทยในยุคนั้น หรือต่อมา



19. ผู้ชนะสิบทิศ - ยาขอบ 




ผู้ชนะสิบทิศ
พิมพ์ในช่วงปี พ.ศ. 2474-2482
ยาขอบ (โชติ แพร่พันธุ์)
(พ.ศ. 2450-2499)

นิยายเรื่องนี้ ดำเนินตามกลวิธีนิยายโบราณ ทุกประการ เนื้อเรื่องอิงพงศาวดารพม่าและไทย และอิงอย่างนิยายทั้งหลาย
คือ ไม่ถือภูมิศาสตร์ หรือกาลเวลาอย่างกวดขัน
ความเยี่ยมของผู้ชนะสิบทิศ อยู่ที่ลักษณะอันประกอบกันขึ้นเป็นนิยาย
ยาขอบ ใช้ชีวิตบรรยายตามเหตุการณ์ ผู้แต่งอยู่ในฐานะเป็นสัพพัญญู เกี่ยวกับตัวละครในเรื่อง
คือ รู้และชี้แจงความคิด ความรู้สึก อารมณ์ ในขณะต่างๆ ของตัวละคร ตัวละคร ใช้สำนวนเดียวกันหมด
แต่เช่นเดียวกับนิยายชั้นดีของโบราณ
ลักษณะนิสัยของตัวละครแต่ละตัว เป็นบุคคลที่กำใจคนอ่านได้
ส่วนสำนวนภาษา เป็นสำนวนของยาขอบเอง เป็นสำนวนร้อยแก้ว ที่ละม้ายสำนวน ในหนังสือราชาธิราช และหนังสืออิงพงศาวดารจีน
แต่ไม่เหมือนทีเดียว

คุณค่าของผู้ชนะสิบทิศ นอกจากความเริงรมย์ อรรถรสทางภาษา ที่ไม่เหมือนใคร มีความไพเราะงดงาม
ยังเป็นค่าควรเมือง การสรรค์สร้างผลงานนี้ แม้จะมีเค้าของวรรณคดีดั้งเดิม
แต่การพลิกปลายปากกา ในอีกเหลี่ยมหรือมุมใหม่ เป็นเยี่ยงและอย่าง ของการอนุรักษ์กับพัฒนา ที่ทำอย่างสมน้ำสมเนื้อ
ไม่เพียงศึกษาเรื่องของไทย อย่างเชี่ยวชาญ การผ่านวรรณกรรมต่างชาติ
เช่น ทะแกล้วทหารสามเกลอ (The Three Musketees) ของดูมาส์ (Dumas)
เราได้เห็น เงาก่อวิญญาณใหม่ เป็นคู่บารมีจะเด็ด นั่นคือ จาเลงกะโบ เนงบา และสีอ่อง
ความชำนาญการแห่งการประพันธ์ของยาขอบ มิใช่เพียงการอ่านมาก ฟังมาก แล้วจึงเขียนได้วิเศษ
ความวิเศษของความสมจริงจากการประพันธ์จินตนิยายนี้
คุณค่าสำคัญอย่างหนึ่งมาจากประสบการณ์ตรง กลั่นมาจากชีวิตที่เคยผ่านพบ คำฝากรัก วอนสวาท คำตัดพ้อ
ใช่เรื่องประดิษฐ์ รจนาล้วนๆ ก็หาไม่
คำบางคำ สรรมาแล้วจากชีวิตจริง หยิบเพชรร่วง ในจดหมายรักของตนเอง
จากเคยมีไป-มา ระหว่างคนรัก ที่ต่างนาง ต่างกรรม และวาระ
สิริรวม จดหมายรักของยาขอบ ประมาณ 700 ฉบับ
หรือความสมจริง แห่งการบรรยายเรื่องม้าศึก ก็มาจากวัยเยาว์ ยาขอบ เคยควบอาชา ในฐานะจ็อกกี้



20. หนึ่งในร้อย - ดอกไม้สด 




หนึ่งในร้อย
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2477
ดอกไม้สด
(พ.ศ. 2448 - 2506)

ดอกไม้สด นามแฝงของม.ล.บุปผา (กุญชร) นิมมานเหมินทร์ (2448-2506)
เป็นนักเขียนนิยายสมัยใหม่ ที่เป็นสตรีคนแรกๆ เริ่มเขียนนิยาย ในยุคเดียวกับ หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง และศรีบูรพา
เธอเป็นธิดาของเจ้าพระยาเทเวศร์ วงศ์วิวัฒน์ และเคยใช้ชีวิตในวัง จนถึงอายุ 13 ปี
จึงได้กลับมาอยู่บ้าน และเข้าเรียนที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ จนจบมัธยมปีที่ 8 ทางภาษาฝรั่งเศส
ซึ่งมีอิทธิพลต่อความคิด และการเขียนนิยาย ของเธออยู่มาก

งานของเธอส่วนใหญ่ แม้จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตครอบครัว โดยเฉพาะเรื่องความรัก และการหาคู่ของคนหนุ่มสาว ในยุคทศวรรษ 2470-2490
แต่ก็เป็นงานที่เขียนด้วยความประณีตเอาใจใส่ในเรื่องความคิด และพฤติกรรมของตัวละคร, การใช้ภาษา การบรรยายฉาก และเหตุการณ์
เป็นนิยายกึ่งพาฝัน กึ่งสมจริง รุ่นบุกเบิก ที่ควรจัดได้ว่า เป็นนิยายคลาสสิคของไทย
งานเด่นๆ ของเธอ มีอาทิเช่น หนึ่งในร้อย (2477) ผู้ดี (2480) นี่แหละโลก (2483) พลเมืองดี (2490)
ผู้แนะนำ เลือกหนึ่งในร้อย งานรุ่นแรกๆ ของเธอ (เขียนเมื่อตอนอายุ 29 ปี)
เพราะเห็นว่าดีทั้งในแง่เนื้อหา ที่สะท้อนชีวิต และสังคมในสมัยนั้น และดีในเชิงวรรณศิลป
เค้าโครงเรื่องกระชับ กระทัดรัด มีลักษณะหักมุม ที่น่าสนใจ
ตัวละครสมจริง มีชีวิตชีวา มีความเป็นไปได้ ไม่ถึงกับเป็นอุดมคติ หรือตั้งใจปั้นแต่ง ตั้งใจสอนมากเกินไป
เหมือนกับเรื่องอย่าง ผู้ดี

ข้อที่น่าสังเกต จากการอ่านนิยาย ของดอกไม้สด คือ
ได้เห็นว่า สังคมชั้นกลางกรุงเทพฯ ในช่วงหลังปี 2475 ค่อนข้างเห่อวัฒนธรรมฝรั่ง
ในเรื่องการจัดงานเลี้ยง, การเต้นรำ, การสูบบุหรี่, ดูภาพยนตร์ อยู่มาก
แต่ก็มีคนอย่างวิชัย ซึ่งยังมีความคิด ในเชิงปกป้องวัฒนธรรมไทย ในบางเรื่อง
เช่น วิจารณ์การแต่งตัว การให้สินค้าฝรั่งมากเกินไป จนทำให้ไทยเสียเปรียบ
ซึ่งน่าจะให้คนรุ่นปัจจุบัน ที่ฟุ่มเฟือยกันจนเป็นหนี้ต่างชาติ หัวปักหัวปำ ต้องเป็นทาสของ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้อ่าน
และเกิดแง่คิดกันว่า มีคนเริ่มเห็นปัญหานี้ มาตั้งแต่ 60 กว่าปีมาแล้ว



21. บางระจัน - ไม้ เมืองเดิม



บางระจัน
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2481 สำนักพิมพ์เหม เวชกร
ไม้ เมืองเดิม
(พ.ศ. 2448 - 2485)

นามจริงของไม้ เมืองเดิม คือ ก้าน พึ่งบุญ ณ อยุธยา (พ.ศ. 2448-2485)
นักประพันธ์ ซึ่งมีชีวิตที่ยากแค้น และอายุเพียง 37 ปีเท่านั้น
เขียนนวนิยาย ในช่วง 6 ปีหลังของชิวิต ได้ไม่ต่ำกว่า 38 เรื่อง
ส่วนใหญ่พิมพ์จำหน่ายเป็นเล่ม มีลงพิมพ์ติดต่อกัน ในหนังสือพิมพ์รายวัน เป็นเรื่องยาวบ้าง ในระหว่างพ.ศ.2479 ถึง 2485
เรื่องขุนศึก เป็นนวนิยายที่ยาวที่สุด แต่เรื่องนี้ ผู้เขียน เขียนไว้ไม่จบ เนื่องจากต้องจบชีวิตเสียก่อน

บางระจัน นวนิยายเชิงประวัติศาสตร์ ที่เสมือนมหากาพย์ ของประชาชนไทย
เป็นงานที่สมบูรณ์ ทั้งเนื้อหาและศิลปการเขียน นับตั้งแต่หัวใจของเรื่อง ซึ่งได้แก่ วีรกรรมของชาวบ้านบางระจัน ในการสู้พม่าข้าศึก
แบบยอมตาย ท่ามกลางความขลาดเขลาและเห็นแก่ตัว ของชนชั้นปกครอง
สำหรับรูปแบบนั้น นับว่าหมดจดงดงามทั้งในแง่ของตัวละครที่มีชีวิตชีวา สมจริง และในแง่ของวรรณศิลป์
โดยเฉพาะฉากสุดท้าย ที่ชาวบ้านบางระจันสู้ตายหมดทุกคน
แต่ละชีวิตที่ล้มลงด้วยดาบพม่าคนแล้วคนเล่า สามารถเรียกน้ำตาจากผู้อ่านได้

"บุตรชายนายทหารอาทมาตเมื่อปลงชีวิต ถวายเป็นที่ระลึกบูชาชาติเสร็จ ก็ร่ำลาและให้สติคนอื่น"
"สังข์ เราจะตายพร้อมกันหมด เราไม่รอดแล้ว บ้านระจันก็ล่มแล้ว เราจะอยู่ดูหน้าใครอีก"
"น้องเขยทหารกล้ามองมันเศร้าใจ รอบค่ายก็ล้วนแต่หน้าศึกพรั่งพร้อม แต่ไทยนั้นนอนสนิทหน้าแนบแผ่นดิน ซบไปแล้วทั้งสิ้น"
"ฉันจะตามไปตายร่วมทุกแห่ง แต่หญ้าหย่อมไหนเล่าจะยอมตาย"
"หย่อมศึกมากข้างหน้านี้แหละ แฟงเอ๋ย ขึ้นมาเคียงพี่เถิด มาตายเคียงพี่ ใกล้ผัวใกล้เมีย"
มันกวักมือแฟง เมื่อเจ้าประชิดมาแล้ว และจวงก็ขึ้นคู่นายสังข์ ยืนหยัดรับศึกเป็นสองคู่ ทัพก็กล่าวไปอีก
"เราจักยืนตายตรงนี้ ก้าวเดียวก็จะไม่ยอมถอย และไม่รุกล้ำหน้า เพราะจะทำให้แยกกันตาย"



22. หญิงคนชั่ว - ก. สุรางคนางค์ 




หญิงคนชั่ว
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2480
ก.สุรางคนางค์
(พ.ศ.2454- )

ก.สุรางคนางค์ ประพันธ์นวนิยายเรื่อง หญิงคนชั่ว ในปีพ.ศ.2480 ขณะที่เธอ มีอายุ 26 ปี”

หญิงคนชั่ว เป็นนวนิยายที่มีโครงเรื่องธรรมดาๆ
หากแต่ความสามารถในการสร้างรายละเอียด เหตุการณ์ และการผูกบุคลิกตัวละคร สร้างความซับซ้อน
เหตุการณ์ต่างๆ ช่วยให้เรื่องราว น่าติดตามได้มากขึ้น
และประการสำคัญ คงจะอยู่ที่ว่า "หญิงคนชั่ว” เล่มนี้ พิมพ์ขึ้น เป็นครั้งแรก ในปีพ.ศ.2480
ซึ่งเวลานั้น การที่นักเขียนหญิงจะเขียนนวนิยายแบบนี้ โดยที่มีโสเภณีเป็นตัวเอก เป็นเรืองแปลกเอาการอยู่
บ้างก็คิดว่า คงจะเป็นนวนิยายเรื่องโป๊ เล่นเอาวงการนักเขียน นักอ่าน กล่าวขวัญ เรื่อง "หญิงคนชั่ว” กันอยู่นานทีเดียว
ร้อนถึง พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ต้องทรงออกมา วิจารณ์หนังสือเล่มนี้ เพื่อปกป้อง "หญิงคนชั่ว” ใจความสำคัญว่า

เรื่องหญิงคนชั่ว สมจะเป็นจริงได้ ตัวละครทุกตัว ดูเป็นคนจริงๆ มีเลือดมีเนื้อ มิใช่แต่เป็นเงา
ทั้งตอนเล็กๆ น้อยๆ เช่น การเล่าถึง สภาพการ ในบ้านนอก ถึงการทำบุญ ที่วัดในบ้านนอก
การละเล่นต่างๆ สภาพการอยู่กิน ของหญิงคนชั่ว ชีวิตในสถานที่ ซึ่งเรียกกันว่าซ่อง ก็ดูน่าจะเป็นจริงได้ทั้งสิ้น
ทั้งยังแสดงนิสัยอันดีงามของนางเอก ที่ถูกเป็นคนชั่วโดยฝืนนิสัย
และแสดงนิสัยของเพื่อนที่ดี สุจริต และความรักลูก และความกตัญญู อย่างน่าอ่าน
ทั้งมีตอน ที่ทำให้ผู้อ่าน ใจเต้น และตอนขบขัน
ทั้งอาจจะเป็นบทเรียน และเป็นตัวอย่าง ให้แก่หญิงสาว ให้ระวังตัว มิฉะนั้น จะตกอยู่ในสภาพ อันน่าทุเรศ อย่างนางเอก



23. พล นิกร กิมหงวน - ป. อินทรปาลิต 




พล นิกร กิมหงวน
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2481 - 2510
ป. อินทรปาลิต
(พ.ศ. 2453 - 2511)

พล นิกร กิมหงวน หรือเรื่องชุด สามเกลอ เป็นงานประเภท หัสนิยาย หรืองานเขียนที่ชวนให้ขัน
ที่เป็นที่นิยมแพร่หลายมากที่สุด ในยุคก่อนและหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2
เคยลงพิมพ์ในนิตยสาร เพลินจิตต์ เป็นตอนๆ แต่ละตอน จบในตัว
และมาพิมพ์รวมเล่มภายหลัง แต่นับรวมทั้งหมดแล้ว เป็นจำนวนพันตอน
มีมุขตลก ที่หลากหลาย สะท้อนชีวิต และสังคม ในแต่ละยุค
การล้อเลียน นโยบาย ของจอมพล ป. เรื่องรัฐนิยม เป็นชุด ที่คนยกย่องกันมาก
กล่าวโดยรวมแล้ว ป.อินทรปาลิต เป็นนักประพันธ์ ที่รุ่มรวยอารมณ์ขัน
เป็นดาว ที่ส่องแสงจ้า เด่นที่สุดดวงหนึ่ง ในประวัติการประพันธ์สมัยใหม่ของเรา
ถึงจะมิใช่ เป็นงานประพันธ์ที่เขียนด้วยภาษา ที่ประดิษฐ์ประดอย หรือเสนอความคิด เกี่ยวกับโลก สังคม ชนิดที่เป็นที่นิยมของปัญญาชน
แต่คุณค่าในเชิงส่งเสริมให้ประชาชนระดับชาวบ้าน เด็กๆ รักการอ่าน อ่านเพื่อการพักสมอง อ่านเพื่อความชุ่มชื่นของจิตใจแล้ว
พล นิกร กิมหงวน ย่อมเป็นสวนอักษรที่ชวนเชิญนักอ่านทั้งหลาย



24. ปักกิ่ง-นครแห่งความหลัง - สด กูรมะโรหิต 




ปักกิ่ง-นครแห่งความหลัง
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2486
สด กูรมะโรหิต
(พ.ศ. 2451-2521)

แก่นเรื่องของ ปักกิ่ง-นครแห่งความหลัง เป็นเรื่องของความรัก ที่เน้นในเรื่องความเสียสละ โดยไม่เอาอารมณ์เป็นใหญ่
ความรักในเรื่อง ปักกิ่ง-นครแห่งความหลัง ได้ขยายกว้างคลุมออกไปถึง ความรักระหว่างพ่อลูก เน้นที่ความเสียสละ
เช่นเดียวกัน ฉากที่นำมาใช้ประกอบ ซึ่งเป็นเหตุการณ์จริงของประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งที่ผู้เขียนได้สัมผัส
คือ ภาวะสงครามกลางเมืองที่ประเทศกำลังถูกรุกรานจากศัตรูภายนอก
และการต่อสู้ภายในระหว่างขบวนการประชาชน ที่ต้องการปลดปล่อยประเทศให้เป็นเอกราชจากต่างชาติ
และแอกของชนชั้นปกครอง ที่เป็นนายหน้าของต่างชาติ รวมทั้งการกล่าวโยง ถึงสถานการณ์ปฏิวัติ ในประเทศรัสเซีย
ซึ่งส่งผลให้ตัวละครเอกในเรื่อง ต้องลี้ภัยการเมืองมาอยู่ในประเทศจีนด้วย

จุดเด่นของ ปักกิ่ง-นครแห่งความหลัง คือ เป็นเรื่องโรแมนติก ที่ผู้เขียนพยายามวาดภาพให้สมจริง
โดยใช้ฉากเหตุการณ์จริงเข้าช่วย การใช้จุดยืนทางด้านมนุษยธรรมของผู้เขียน มาจับสถานการณ์ที่ใช้ฉาก
ก็เป็นการให้แง่คิด และกระตุ้นให้ผู้อ่าน ได้คิดที่ดี เช่น

ภาพที่ทำให้ไม่สบาย ก็คือ ภาพของคนจนชาวปักกิ่ง จนมาก-จนอย่างที่เราคาดไม่ถึง
จนอย่างที่จะเป็นจะตายทีเดียว พวกเราคนไทย ไม่เคยจนอย่างนั้น คนจนของเมืองไทย ไม่เคยจนตาย
แต่คนจนของปักกิ่ง และตลอดจีนเหนือ จนตายเอาบ่อยๆ
วันที่ร้ายกาจที่สุด สำหรับคนจนในจีนเหนือ ก็คือวันในฤดูเหมันต์

ปักกิ่ง-นครแห่งความหลัง เป็นหนังสือโศกนาฏกรรม ในทศวรรษ 2480 ที่เป็นที่นิยมมาก
เพราะเป็นเรื่องที่มีฉากต่างประเทศ ที่ผู้เขียนบรรยายได้อย่างเห็นภาพพจน์ และเรื่องวารยาราเนฟสกายา
ซึ่งเป็นเรื่องแรกในชุดนี้ เป็นเรื่องโศกนาฏกรรมที่ทำให้คนสมัยนั้น รู้สึกเศร้าตามสำนวนภาษาก็ดี
นอกจากเรื่อง "วารยา" แล้ว สด ยังเขียนเรื่อง คนดีที่โลกไม่ต้องการ และเมื่อหิมะละลาย
ซึ่งเป็นเรื่องในชุดปักกิ่งตามมา
แต่คนมักรู้จัก และกล่าวขวัญถึง แต่เรื่อง "วารยา" มากกว่า



25. เราลิขิต-บทหลุมศพวาสิฏฐี - ร.จันทพิมพะ 




เราลิขิต-บนหลุมศพวาสิฎฐี
พิมพ์ครั้งแรก ในนิตยสาร ปี 2489 และ 2493
ร.จันทพิมพะ
(พ.ศ.2452-2497)

นวนิยายสองภาคจบ ภาคแรกชื่อว่า "เราลิขิต" ลงตีพิมพ์ครั้งแรก ในนิตยสารประชามิตร-สุภาพบุรุษ พ.ศ.2489
และต่อมาภาคสอง ซึ่งเป็นภาคจบ ได้ลงพิมพ์ในนิตยสารสยามสมัย ในพ.ศ.2493 ในชื่อ บนหลุมศพวาสิฏฐี พิมพ์รวมเล่มในปี 2505

นวนิยายของ ร.จันทพิมพะ เป็นนวนิยายที่ไม่ได้เสนอภาพ พระเอกนางเอก หรือผู้ร้ายตัวโกง
ร.จันทพิมพะ แจกบทอย่างยุติธรรม ให้แก่ตัวละครที่เธอสร้างขึ้นมา
เพราะ ร.จันทพิมพะ มองเห็นชีวิตทะลุไปถึงแรงขับเคลื่อนที่อยู่ภายใน
และเธอพิจารณาไปทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ชาติกำเนิด สภาพครอบครัว วงศ์ตระกูล สิ่งแวดล้อม สภาพความเปลี่ยนแปลงของสังคม
และสุดท้าย กระทั่งธรรมชาตินิสัย ที่อาจติดตัวมาตั้งแต่ถือกำเนิด

ตัวละครของ ร.จันทพิมพะ จึงพิมพ์ขึ้นมาหลายแบบ แตกต่างกัน และล้วนแต่มีเสน่ห์ น่าสนใจ ติดตาม
เธอเป็นนักวิเคราะห์คนในแนวจิตวิทยา ที่เยี่ยมยอดมากคนหนึ่ง
เพราะเธอให้ความสนใจต่อความปรวนแปรของจิตใจ ที่สัมพันธ์กับความอยู่รอดของมนุษย์ และสัญชาติญาณของเขาทุกคน
ร.จันทพิมพะ แทบจะเชื่อว่า พฤติกรรมทุกอย่างของมนุษย์ อธิบายได้ วิเคราะห์ได้ หาแบบแผนที่แน่นอนได้
แม้จะมีแบบแผนเช่นว่านั้น อยู่หลายชุดก็ตาม
และก็เพราะ ร.จันทพิมพะ สนใจเรื่องชีวิตของคนจน มีความมั่นใจว่า เธอเข้าใจชีวิตอย่างดีเช่นนี้เอง
ตัวละครของเธอ จึงถูกคุมทิศทางไว้อย่างดี ไม่มีทางสับสนได้

นวนิยายของ ร.จันทพิมพะ รวมทั้งเรื่องสั้น ซึ่งเธอถนัดมากนั้น อ่านสนุก ชวนติดตาม
รวมทั้งได้ช่วยให้เรา เข้าใจสังคมไทยที่เปลี่ยนไป ในแต่ละยุคแต่ละสมัย
ตัวประกอบของเรื่อง ไม่ใช่เพียงตัวประกอบฉาก แต่พวกเขามักเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างสังคมทั้งหมด ที่เธอจัดวางไว้อย่างลงตัว
ฉากเหตุการณ์นั้น ระบุสภาพสังคม การเมือง หรือเศรษฐกิจ ที่มีผลต่อตัวละครอย่างชัดแจ้ง
ผู้อ่านจะเกิดความเข้าใจเป็นอย่างดีว่า ยุคสมัย วันเวลา ที่เหตุการณ์เหล่านั้นได้เกิดขึ้นมา
มีพื้นเพ ที่จะเป็นเช่นนั้นได้อย่างไร รวมทั้งกำหนดบุคลิกภาพ ของผู้คน ให้เปลี่ยนไปได้อย่างไรด้วย



26. เมืองนิมิตร - ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน์ 




เมืองนิมิตร และชีวิตแห่งการกบฏสองครั้ง
พิมพ์ครั้งแรก 2491
ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน์
(พ.ศ. 2451 - 2491)

หนังสือเล่มนี้ เดิมมีชื่อว่า "ความฝันของนักอุดมคติ" ผู้เขียน ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน์ (2451-2491) เป็นเรืออากาศโท
ผู้ต้องให้ออกจากประจำการ ในปี 2476 ด้วยกรณีศาลพิเศษ ในคดีกบฏบวรเดช ถูกตัดสินจำคุก 9 ปี
ต่อมา ได้รับการอภัยโทษ รับโทษจริงๆ 4 ปีเศษ กลับมารับราชการ อยู่กรมชลประทาน ได้ 8 เดือน
ก็ถูกจับครั้งที่ 2 ในข้อหากบฏ
ขณะที่ต้องโทษครั้งหลัง ได้เขียนเรื่อง "ความฝันของนักอุดมคติ" เป็นภาษาอังกฤษ แต่ถูกทางการทำลายต้นฉบับ
หลังจากได้รับการอภัยโทษ เขาได้เขียนหนังสือนี้ เป็นภาคภาษาไทย และพิมพ์ครั้งแรกเอง
ก่อนที่เขาจะเสียชีวิต ด้วยโรคมาลาเรีย และวัณโรคปอด ในปี 2491 ด้วยวัยเพียง 40 ปี

เมืองนิมิตร เป็นนิยายโรแมนติคกึ่งสมจริง แทรกความรู้ และทัศนะทางชีววิทยา จิตวิทยา สังคมวิทยา เศรษฐกิจ และการเมือง
ซึ่งก็เป็นความรู้ที่ใหม่ สำหรับคนไทยยุคนั้น ถ้าอ่านในยุคนี้ ก็ไม่มีอะไรใหม่นัก
แต่เนื่องจาก เมืองนิมิตร เป็นทั้งวรรณกรรม และบันทึกทางประวัติศาสตร์
และเนื่องจากประเทศ ที่งานชิ้นนี้อุบัติขึ้นมา ก็ยังคงเป็นประเทศ ที่มีอะไรล้าหลังกว่าประเทศอื่น ในยุคสมัยเดียวกันอยู่อีกมาก
งานชิ้นดังกล่าว จึงยังคงเป็นงานที่คนไทย น่าจะได้อ่าน

ถึงแม้ว่าแนวความคิด ของม.ร.ว.นิมิตรมงคล จะเป็นแบบยูโทเปีย เพ้อฝัน
หรือได้รับอิทธิพลแนวปรัชญา แนวชีววิทยาตะวันตก มากไปสักหน่อย
แต่เขาก็ได้เสนอความคิด ที่มีลักษณะวิพากษ์วิจารณ์ และน่าสนใจไว้หลายแง่ น่าทึ่งพอสมควร
คนที่ถูกจับในคดีกบฏบวรเดช ซึ่งถูกมองว่า เป็นพวกกษัตริย์นิยม จะให้ตัวละครเอก พูดแนวคิดที่ยังทันสมัยอยู่มากในยุคปัจจุบัน
ประโยคนี้ออกมา

"แกอาจยังไม่รู้ว่า พวกเจ้าหรือพวกขุนนาง ก็คือกษัตริย์ ซึ่งสืบเชื้อสายจากพวกพเนจร ในยุคต้นประวัติศาสตร์
พวกพเนจรนี้ ได้เข้าแย่งดินแดนของพวกกสิกร แล้วเลยทึกทักเอาว่า ตนเป็นเจ้าของแผ่นดิน
และพวกกสิกรเป็นข้าทาสบริวาร ตรงไหนล่ะ เป็นความสูงของพวกกษัตริย์ ควรหรือ ที่เราจะนับถือฝีมือในการต่อสู้ ว่าเป็นความสูง
เดี๋ยวนี้ ขอให้เรานับถือกษัตริย์แห่งปรัชญา และเลิกนับถือกษัตริย์แห่งสงครามเสียที
เดี๋ยวนี้ พวกกษัตริย์แห่งสงคราม ก็ยังกุมอำนาจบริหารอยู่ โดยเป็นข้าราชการ ตามกระทรวงต่างๆ
รัฐ จึงกลายเป็น องคาพยพ แห่งสงคราม"
(หน้า 247-248 ในฉบับพิมพ์ ปี 2509 โดยสำนักพิมพ์ก้าวหน้า)



27. แม่สายสะอื้น - อ. ไชยวรศิลป์ 




แม่สายสะอื้น
พิมพ์ครั้งแรกในสยามสมัย พ.ศ. 2493-2494
อ.ไชยวรศิลป์ (อำพัน ไชยวรศิลป์)
(พ.ศ.2461-2533)

อ.ไชยวรศิลป์ เป็นชาวจังหวัดแพร่ เธอเติบโตขึ้นมาในสังคมชนบท ในยุคก่อนการเปลี่ยนแปลง การปกครอง 2475
เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของผืนแผ่นดินล้านนาแท้ๆ
อ.ไชยวรศิลป์ เริ่มต้นเขียนนวนิยาย และเรื่องสั้น ในแนวพาฝันก่อน
และต่อมาเธอได้มีโอกาส แลกเปลี่ยนความคิดกับนักคิดนักเขียนคนสำคัญของไทยหลายท่าน
เช่น ส.ธรรมยศ บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ และท่านอื่นๆ รวมทั้ง ศึกษาแนวคิดทางสังคมต่างๆ ของนักเขียนก่อนหน้าเธอด้วย
จนกระทั่งความคิดของเธอ เริ่มหันเหมาสู่การคิดว่า นักเขียน ควรจะศึกษาชีวิตและสิ่งรอบตัว รวมทั้งกว้างออกไปถึงสังคม
ในที่สุดเธอผลิตงาน แนวอัตถนิยม ขึ้นเป็นจำนวนมาก
และจุดเด่นของนวนิยาย ของอ.ไชยวรศิลป์ ก็คือ เธอมีความสามารถอย่างสูง ที่จะถ่ายทอดความเป็นจริงของหมู่บ้าน และชุมชนล้านนา
ออกมาจากสายตา ของผู้ที่อยู่ภายในสังคมนั่นเอง

นวนิยายเรื่อง แม่สายสะอื้น นี้ มีเสน่ห์พิเศษอยู่ที่ว่า เป็นเรื่องเล่าที่เกี่ยวข้องกับดินแดน ชนชาติ และชาวภาคเหนือ
ที่ผู้เขียนมีความเข้าใจ จิตวิญญาณและลมหายใจ ของพื้นที่แห่งนั้นอย่างลึกซึ้ง
รายละเอียดของการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นวิธีไปมาติดต่อ การทำมาหากิน พิธีกรรม งานฉลอง ขนบประเพณี
อีกทั้งลมฟ้าอากาศ ล้วนแต่เร้าใจ ให้อยากรู้จัก และอยากจะติดตาม ความลี้ลับชนิดนั้น
การเรียนรู้เรื่องราวเช่นนี้ อาจช่วยปลูกฝัง ความรู้สึกรักท้องถิ่น
หรือการเคารพในเกียรติยศ ศักดิ์ศรี ของกันและกัน ระหว่างถิ่นต่างๆ ขึ้นอีกมากทีเดียว



28. พัทยา - ดาวหาง 




พัทยา
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2494
ดาวหาง

พัทยา เป็นนิยายขนาด 2 เล่มจบ ที่คนรู้จักกันน้อย เพราะเคยพิมพ์เป็นเล่ม เมื่อปีพ.ศ.2494-2495 แล้วไม่มีการพิมพ์ซ้ำ
ทำให้หาหนังสือ 2 เล่มนี้ได้ยาก
ผู้เขียนใช้นามแฝงว่า ดาวหาง ก็ค่อนข้างลึกลับเหมือนชื่อ จนบัดนี้ก็ยังไม่ทราบว่าเป็นใคร
ก่อนที่บริษัทประชาช่าง จะนำมาพิมพ์เป็นเล่มนั้น นิยายเรื่องนี้ เคยตีพิมพ์เป็นตอนๆ ลงในสุวันภูมิ
คุณเสนีย์ บำรุงพงศ์ ผู้เคยทำงานที่สุวันภูมิ ในช่วงเวลานั้น กล่าวว่า นิยายเรื่องนี้ ส่งมาทางไปรษณีย์จากชลบุรี โดยไม่ระบุตัวผู้เขียน ว่าเป็นใคร

ผู้เขียนกล่าวไว้ในคำนำว่า เป็นเรื่องที่แต่งขึ้น ในช่วงปีพ.ศ.2477-2480
พัทยา เป็นตำบลในฝันของผู้เขียน พัทยา อาจไม่เหมือนพัทยาที่แท้จริง
แต่เข้าใจว่าผู้เขียน คงได้เค้ามาจาก ตำบลพัทยาในอดีต เมื่อราว 60 ปี ที่ผ่านมานั่นเอง
นิยายเรื่องที่เขียนนี้ สะท้อนว่าผู้เขียนมีการศึกษาดี มีความรู้ เรื่องเศรษฐกิจ การเมือง อ่านหนังสือมาก
ทั้งที่เป็นวรรณกรรมไทย และต่างประเทศ ลักษณะคงเคยอยู่ ต่างประเทศมาก่อน
หรือต้องอ่านเรื่องราวของต่างประเทศจำนวนมาก
ขณะเดียวกัน ก็เป็นคนที่รู้เรื่อง ภูมิปัญญาไทย ท้องถิ่นไทย อย่างดีทีเดียวด้วยเช่นกัน

ผู้เขียน เขียนเรื่องนี้ แบบเสียดสีทางการเมือง พร้อมแทรกอารมณ์ขันไปด้วย
ในด้านแนวการเขียนนั้น ผู้เขียนจะค่อยๆ สอดแทรก ความคิดของตนเอง ไปเรื่อยๆ กว่าจะวกกลับมาเล่าเรื่องต่อ
และเป็นการแสดงแนวความคิด แบบเสรีนิยม มีการวิจารณ์ฝ่ายซ้าย และฝ่ายขวาจัด ฟาสซิสม์ ด้วยทัศนะของคนที่มีการศึกษา
ไม่ได้วิจารณ์ฝ่ายซ้าย แบบคนหัวเก่า ปฏิกิริยาเหมือนดังในเรื่อง ไผ่แดง ของคึกฤทธิ์ ปราโมช

ที่น่าสนใจประการหนึ่ง คือ การที่ผู้เขียนให้หลวงพี่อู๋ เป็นตัวแทนของพระนักพัฒนาสังคม ที่ดูแลโรงเรียน
สำหรับเด็กหลายร้อยคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กที่ยากจน
เรื่องราวในพัทยา จึงเป็นเรื่องของปัญญาชนท้องถิ่นกลุ่มหนึ่ง ที่พยายามพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง
นับเป็นนวนิยายที่แปลกออกไป คือ ไม่ใช่นิยายเพื่อชีวิต แบบนักเขียนกลุ่มก้าวหน้า
แต่ก็เป็นนิยายที่มีสาระ มากกว่าเรื่องรักๆ ใคร่ๆ หรือชีวิตครอบครัว แบบที่นิยมเขียนกันในสมัยนั้น หรือจนในสมัยต่อมา

นวนิยายเล่มนี้ สะท้อนให้เห็นสภาพการเมือง สังคมไทย ในสมัยหลังสงคราม ได้หลายด้าน
ทั้งการหวาดกลัว ลัทธิคอมมิวนิสต์ และการที่รัฐบาล ใช้วิธีการจัดตั้งยุวชนทหาร ตามแบบฟาสซิสม์
การพัฒนาเศรษฐกิจแบบสมัยใหม่ ซึ่งประทะกับวิถีชีวิตดั้งเดิม และวิถีชีวิตแบบชาวพุทธ
นับได้ว่าเรื่องนี้ เป็นนวนิยายล้อเลียนการเมือง และสังคม เล่มแรกๆ ของไทย
ที่นอกจากจะมีเนื้อหาสาระแล้ว ก็มีศิลปะในการเขียน อยู่ในเกณฑ์ดี
แม้บางครั้ง จะเป็นการรำพึง หรือวิจารณ์ออกไป นอกเรื่องนอกราวบ้าง
นอกจากงานนิยายชิ้นนี้แล้ว ผู้เขียน ก็เขียนเรื่องสั้นๆ ไว้อีกหลายเรื่อง เช่น จุดดำ และเรื่องอื่นๆ (เขษมบรรณกิจ 2502)



29. แผ่นดินนี้ของใคร - ศรีรัตน์ สถาปนวัฒน์ 




แผ่นดินนี้ของใคร
พิมพ์ครั้งแรก เป็นตอนๆ ใน ปิยะมิตร พ.ศ.2495
ศรีรัตน์ สถาปนวัตน์
(พ.ศ.2461-2518)

ศรีรัตน์ สถาปนวัตน์ เป็นนักเขียน รุ่นเดียวกับ เสนีย์ เสาวพงศ์ อิศรา อมันตกุล หรือ ร.จันทพิมพะ และคนอื่นๆ
ผู้ซึ่งมักจะยืนขึ้น วิจารณ์สังคมด้วยความคิด และวาจาอันดุเดือด หรือคมคาย
พร้อมด้วยบุคลิก กล้าหาญ เป็นตัวของตัวเอง และหยิ่งทะนงของตัวละคร
สงครามโลกครั้งที่สอง การเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐประหาร และการแสวงหา สิทธิเสรีภาพ เป็นฉากหลัง
หรือพื้นฐานที่เหตุการณ์ และบุคคลชนิดต่างๆ ได้ถือกำเนิดขึ้นมา ในประวัติศาสตร์ หน้าใหม่ๆ ของสังคมไทย
นักเขียนกลุ่มนี้ ได้สร้างตัวละคร และเรื่องราวของประชาชน ผู้ซึ่งแสวงหา ความยุติธรรม ความเสมอภาค และความดีงาม

ศรีรัตน์ ตั้งคำถาม จากชื่อเรื่องว่า แผ่นดินนี้ของใคร
เพราะความฝันของ ชนชั้นกลาง อย่างเจน และกุณฑลี วนาสัย ที่ฝ่ากำแพงชนชั้น ไปสร้างครอบครัวในชนบท
ต้องแหลกยับ กลับกลาย เป็นฝันสลายหมดสิ้น เพราะการถูกกดขี่ จากข้าราชการเลวๆ ในยุคนั้น
เขาทั้งสอง หนีไปจากความไม่เสมอภาคทางชนชั้น
จากสายตา ดูหมิ่นถิ่นแคลน จากกรอบประเพณี คร่ำครึ ล้าสมัย ที่ปิดทางของเขา จากเมืองหลวง
แต่กลับเผชิญกับ อำนาจเถื่อนที่ ไม่เพียงแต่ทำร้ายจิตใจ แต่มันกลับเป็นอันตรายรุนแรง พนันกันถึงชีวิต และเลือดเนื้อ
และผลสุดท้ายก็คือ ความตาย และความสูญสิ้น
ไม่มีเขตแดนแผ่นดินที่ใฝ่ฝันไว้ว่า จะเป็นที่อันสงบเงียบ สำหรับผู้ใฝ่หา ความหมายของชีวิตที่แท้

แผ่นดินนี้ของใคร ไม่เพียงแต่ เป็นการยื่นคำฟ้อง ด้วยสำนวนรุนแรง และเด็ดขาด
ต่อกฎเกณฑ์ทางสังคม ระบบการเมือง กลไกรัฐที่พิการ รวมทั้งวิถีทาง แห่งการประกอบ สัมมาอาชีพ
แต่ยังตั้งคำถาม ต่อชะตากรรม ที่ซ้ำเติมชีวิตอยู่ไม่รู้จักจบสิ้น หลายครั้งหลายครา
ที่มนุษย์มักตั้งคำถามว่า ชีวิตของเรา อยู่ในมือของเราจริงๆ ละหรือ
ศรีรัตน์แทบจะไม่มี ศรัทธาอยู่เลย เขาแทบจะไม่เชื่อว่า มีความยุติธรรมอยู่บ้างในโลกนี้ โดยวิถีทางใดๆ

นวนิยาย ของศรีรัตน์ ทุกเล่ม อาจจะไม่ได้มีความสม่ำเสมอแบบนี้ตลอดไป
ในยุคที่เขา เริ่มเขียนหนังสือ และยุคหลังการจับกุม ปราบปราม นักเขียนหัวก้าวหน้า ครั้งใหญ่
เขาได้ปรับตัวเลือก เขียนนวนิยาย ในแนวอื่น ด้วยเหตุผล ของเขาเอง
แต่กระนั้น นวนิยาย และเรื่องสั้น ของเขาหลายเรื่อง เดินตามแนวทางนี้เสมอมา
อาทิ ทาสชีวิต เมืองทาส ก่อนจะสิ้นแสงตะวัน โศกนาฏกรรมของสัตว์เมือง
และเรื่องที่โด่งดังมาก อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งเปิดเผยอำนาจอธรรม และความขัดแย้ง ระหว่างชนชั้น ไว้อย่างน่าสนใจ
คือ พรุ่งนี้ต้องมีอรุณรุ่ง



30. มหาบัณฑิตแห่งมิถิลานคร - แย้ม ประพัฒน์ทอง 




มหาบัณฑิตแห่งมิถิลานคร
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2495
น.อ.แย้ม ประพัฒน์ทอง

เนื่องจากคุณค่าหลายด้าน ของมหาบัณฑิตแห่งมิถิลานคร ทำให้อ่านได้จากหลายนัย
บ้างอาจจะถือ เป็นงานที่ให้เนื้อหาสาระเป็นหลัก บ้างอาจจะอ่าน เป็นบันเทิงคดี
บ้างอาจจะถือเป็น งานเผยแพร่ศาสนา ด้วยวิธีที่แยบยล
บ้างอาจจะถือเป็นงาน โดยคนไทย ของคนไทย เพื่อคนไทย ฯลฯ
ทั้งนี้ตามโลกทัศน์ และความมุ่งหมาย ในการอ่าน ของแต่ละคน
สำหรับผู้ที่รับอิทธิพล พุทธศาสนา ไม่ว่าจะตามแบบฉบับชาวบ้าน หรือตามภูมินักวิชาการ
คงโน้มเอียง ที่จะถือเรื่องนี้ เป็นวรรณกรรม พุทธศาสนา
โดยเฉพาะ ในส่วนที่เป็นชาดก ความจริง มีงานเกี่ยวกับทศชาดกนี้ อยู่มาก
ทั้งที่เป็นงานเขียน สิ่งพิมพ์ และอาจจะนับรวม จิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์ และภาพวาดไว้ด้วย
แต่งานในรูปแบบ มหาบัณฑิตแห่งมิถิลานครนี้ หาได้ยากอย่างยิ่ง
ด้วยว่า เป็นงานริเริ่ม ที่สร้างสรรค์ได้งดงาม ควรแก่การตั้งความหวังว่า
อาจจะเป็นตัวอย่างแก่ทั้งนักประพันธ์ และผู้อ่านให้ก่อจินตนาการ ในทำนองนี้ จากเนื้อหาชาดกเรื่องอื่นๆ
คุณค่าทางใจ จากภูมิปัญญา พุทธศาสนา จะได้งอกงาม นอกเหนือออกไป จากเพียงสถาบันสงฆ์



31. ปีศาจ - เสนีย์ เสาวพงศ์ 




ปีศาจ
พิมพ์เป็นเล่มครั้งแรก ปี 2500 โดยสำนักพิมพ์เกวียนทอง
เสนีย์ เสาวพงศ์
(พ.ศ. 2461 - )

ปีศาจ เป็นนิยายชิ้นสำคัญ ชิ้นหนึ่งของ เสนีย์ เสาวพงศ์ (นามแฝงของ ศักดิ์ชัย บำรุงพงษ์ 2461- )
นักเขียนนิยาย และเรื่องสั้น ผู้มีชื่อเสียง ในช่วงทศวรรษ 2490
และกลับมาเขียนอีกครั้ง ในทศวรรษ 2520 และ 2530
งานเด่นๆ ชิ้นอื่นของเขา คือ ความรักของวัลยา (2495) ชัยชนะของคนแพ้ (2486) ชีวิตบนความตาย (2489) ทานตะวันดอกหนึ่ง (รวมเรื่องสั้น)

ปีศาจ พิมพ์เป็นตอนๆ ในนิตยสารสยามสมัย ระหว่างปี 2496-7
ซึ่งเป็นยุคภายหลัง สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ไทย มีความตื่นตัว ทางความคิด ความอ่าน เกี่ยวกับการเมือง และสังคม ค่อนข้างมาก
เสนีย์ ซึ่งขณะนั้น เป็นข้าราชการ กระทรวงต่างประเทศ อายุ 35 ปี ได้เขียนเรื่องนี้
ภายหลังจาก การที่หนังสือพิมพ์ รายงานข่าว กรณีพิพาท ที่ดินที่บางบ่อ ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดของเขา ผู้มีพื้นเพ มาจากชาวนาชาวสวน

ปีศาจ เป็นงานศิลปะ ที่แสดงถึงจุดมุ่งหมาย และความคิด ที่เด่นชัดมากที่สุด สำหรับเมืองไทย ในยุคนั้น
หรือแม้แต่ในยุค 14 ตุลาคม 2516 คนอย่าง สาย สีมา, รัชนี ผู้รักความเป็นธรรม และเห็นใจคนยากคนจน
อาจจะดู เป็นคนในอุดมคติ สำหรับสังคมไทย ในปัจจุบันมากเกินไป
แต่เขาเหล่านั้น ก็เป็นเสมือนตัวแทน ของคนรุ่นใหม่ ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ผู้เริ่มปฏิเสธค่านิยมเก่าๆ ของสังคมโบร่ำโบราณ
ซึ่งไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่เลย ตลอดระยะเวลาหลายร้อยปีที่ผ่านมา
สังคมอภิสิทธิชน ซึ่งพร้อมที่จะ ดูดกลืนคนอยู่เสมอ เพราะความเจ้าเล่ห์
ซึ่งเติบโตขึ้น ตามอายุขัย และขนาดของมัน
ในแง่ประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญา ปีศาจ ที่เสนีย์ เสาวพงศ์ สร้างขึ้นมา
ก็เป็นตัวแทนการเริ่มต้น ที่จะประท้วงโดยคนรุ่นใหม่ ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ที่กลับมาจับใจ คนรุ่นใหม่ ช่วงปี 2516-2519 อย่างมีนัยสำคัญ
เพราะเป็นยุคสมัย ที่คนหนุ่มสาว กำลังตื่นตัว ที่จะแสวงหา สังคมอุดมคติ คล้ายๆ กัน ปีศาจอย่าง สาย สีมา
ตัวที่กาลเวลา ได้สร้างขึ้นมาหลอกหลอน คนที่อยู่ในโลกเก่า ความคิดเก่า
ทำให้เกิด ความละเมอ หวาดกลัว...
อาจจะเป็นเพียงนักฝัน นักอุดมคติในยุคหนึ่ง
แต่เขาได้สร้าง แรงบันดาลใจ ให้คนจำนวนไม่น้อย ได้ลงมือใช้ชีวิต ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมจริงๆ
ทั้งในป่าเขา ในชนบท ในโรงงาน ในวงการศึกษา สื่อสารมวลชน และอื่นๆ
(เช่นเดียวกับเรื่อง ความรักของวัลยา ซึ่งโรแมนติก อ่อนโยนกว่า แต่ก็เป็นเรื่อง เชิงอุดมคติ ที่ให้แรงบันดาลใจเช่นกัน)

คำพูดของสาย สีมาที่ว่า
"ไม่มีอะไร หยุดยั้งความรุดหน้า ของกาลเวลา ที่จะสร้างปีศาจเหล่านี้ ให้มากขึ้นทุกที
ท่านคิดจะทำลายปีศาจตัวนี้ ในคืนวันนี้...แต่ไม่มีทางจะเป็นไปได้...
เพราะเขา อยู่ในเกราะกำบัง แห่งกาลเวลา ท่านอาจจะเหนี่ยวรั้ง อะไรไว้ได้ บางสิ่งบางอย่าง ชั่วครั้งชั่วคราว
แต่ท่าน ไม่สามารถจะรักษาทุกสิ่งทุกอย่างไว้ได้ตลอดไป"

อาจจะฟังดูเหมือนกับ คำประกาศของฝ่ายซ้าย ในปี 2496
แต่หากเรามามองในแง่ปรัชญา โดยไม่มองเรื่อง ซ้ายหรือขวาแล้ว
มันก็ยังเป็นความจริงทั่วไป อยู่จนถึงทุกวันนี้นั่นเอง



32. สี่แผ่นดิน - ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช 




สี่แผ่นดิน
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2494
ศาสตราจารย์ พลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
(พ.ศ. 2454-2538)

สี่แผ่นดิน ให้ความรื่นรมย์ และสั่นสะเทือนความรู้สึก เช่นเดียวกับการให้ความรู้ และทัศนะเกี่ยวกับสังคมไทย
ในช่วงสี่แผ่นดิน นับแต่แผ่นดินพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ถึงแผ่นดินรัชกาลที่ 8
แม้ว่า การสะท้อนเรื่องราวของสังคมไทย โดยเฉพาะวิถีชีวิตชาววัง ขนบประเพณี
จะสะท้อนผ่านสายตา ของผู้มีความคิดอนุรักษ์นิยม ผสมเสรีนิยม พร้อมกับจุดยืนทางการเมือง ที่แน่นอน แนบแน่น กับฝ่ายราชาธิปไตย
ภาพตัวละครที่เกี่ยวพัน กับคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 อาจดูว่า
เป็นตัวละครที่มีบุคลิกภาพ ไม่น่าชื่นชมนัก
อย่างไรก็ตาม นวนิยาย มิใช่การบันทึกประวัติศาสตร์ ถึงจะอิงประวัติศาสตร์

ประเด็นน่าสนใจ ยิ่งกว่านั้นคือ ทั้งนักประวัติศาสตร์ และนักประพันธ์ ถึงจะมีทางต่างกัน
ก็ยังต้องวินิจฉัย หรือตีความประวัติศาสตร์ เพื่อส่งสารตามทางของตน
ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เปรียบเทียบการสะท้อนชีวิตในพระราชฐานชั้นในของพระบรมมหาราชวัง
ของนวนิยายเรื่อง เดอะโรมานซ์ ออฟ เดอะฮาเร็ม ของแหม่มแอนนา
ซึ่งประดุจ สี่แผ่นดิน ที่เขียนโดยฝรั่ง กับการสะท้อนภาพ ทำนองเดียวกัน
หากต่างมิติ จากสี่แผ่นดิน ของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
ภาพสะท้อน จากนวนิยาย ของแหม่มแอนนา จะเห็นว่า การที่พระราชฐานชั้นใน มีสีสัน มีความสนุกสนานมาก
ก็ด้วยมีคนเล็กๆ ทำงานรับใช้ แม้คนชั้นสู ที่เป็นเจ้าจอมหม่อมห้าม ก็ใช่อยู่ในภาวะพึงพอใจ
เมื่อคิดถึงสิทธิสตรี ตามความคิดของฝรั่งเวลานั้น และในทางประวัติศาสตร์ไทย
อาจารย์นิธิกล่าวว่า นิยายของแหม่มแอนนา จึงแตกต่าง ตรงข้ามกับนิยาย เรื่องสี่แผ่นดิน
ซึ่งเป็นนิยาย ที่ให้ภาพพระราชฐานชั้นใน ของสมัยก่อน แก่คนไทยสมัยนี้ มากที่สุด



33. ทุ่งมหาราช - มาลัย ชูพินิจ 




ทุ่งมหาราช
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2497
เรียมเอง
(พ.ศ. 2449-2506)

เรียมเอง เป็นนามแฝง ของมาลัย ชูพินิจ (2449-2506) ซึ่งนอกจาก จะเป็นนักหนังสือพิมพ์ ผู้มีชื่อเสียงแล้ว
ยังเป็นนักเขียน เรื่องหลายประเภท ที่รู้จักกันดี ในวงการนักอ่าน
ไม่ว่าจะใช้นามจริง หรือนามแฝง เช่น ม. ชูพินิจ, เรียมเอง, น้อย อินทนนท์, แม่อนงค์

ทุ่งมหาราช เป็นนวนิยายเสมือนบันทึกเหตุการณ์ของผู้เขียน สมัยเมื่อครั้งใช้ชีวิตอยู่กับบิดา มารดา ที่คลองสวนหมาก จังหวัดกำแพงเพชร
ซึ่งในยุคนั้น ผู้คน ต้องผ่านพบความยากลำบากนานับประการ
ตั้งแต่ความอดอยากยากแค้น โรคภัยไข้เจ็บ โดยเฉพาะไข้ทรพิษ และน้ำท่วม
หนังสือเล่มนี้ สะท้อนภาพของเรื่องราวดังกล่าว โดยผ่านตัวละคร ที่มีเลือดเนื้อ และวิญญาณ
เช่น รุ่ง หรือขุนนิคมบริบาล ซึ่งคาเรือน และบ้านไร่ ก็เพิ่งมีชาวเวียงจันทน์ อพยพมาอยู่ ไม่กี่ครอบครัว

ความคิดของรุ่ง สะท้อนความรู้สึกส่วนใหญ่ของชาวบ้านต่อการทำมาหากิน ด้วยความเป็นอิสระของตนเอง
เหมือนกับที่ ในตอนท้ายสุด เขาแสดงให้เจ้าเมืองได้รับรู้ว่า ความเป็นอิสระในการทำมาหากินในที่ดินของบรรพบุรุษนั้น
มีคุณค่า หรือมีความหมายเพียงใด และมีค่าเหนือความอดอยากยากแค้น ความลำบาก และความเจ็บป่วยไข้ ที่พวกเขาเคยประสบ
จนแทบเอาชีวิตไม่รอด ดังที่เจ้าเมือง รำพึงกับตนเองว่า

"ท่านเจ้าคุณ ผู้ว่าราชการจังหวัด รู้อย่างผู้ที่มองเห็นการณ์ไกลทั้งหลาย
พึงจะรู้ว่า โดยการปฏิเสธ สัมปทาน ป่าไม้แห่งนั้น ชาวบ้านปากคลองเท่ากับปฏิเสธอนาคต ที่สดใสปลอดภัย
และสถาพรของเขา ต่อไปอีกหลายปี บางทีอาจชั่วอายุคน
แต่ประเพณี ป็นของตายยาก ศรัทธา และความเป็นไท ก็เช่นเดียวกัน
การฝืนความประสงค์ของชาวพื้นเมืองเหล่านั้น ด้วยการให้สัมปทานแก่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด
หมายถึง การหมดสิทธิ์อิสระของเขา ที่จะอยู่อย่างเคยอยู่ กินอย่างที่เคยกิน มาชั่วชีวิต ชั่วยุคของปู่ย่าตายาย
ความปลอดภัย มีประโยชน์อะไร สำหรับชีวิตที่แห้งแล้ง?
สถาพร มีประโยชน์อะไร สำหรับบุคคลที่ถูกขีดวงให้อยู่ในกรอบอันจำกัด?"

ทุ่งมหาราช เป็นนวนิยาย ที่แฝงแนวความคิด ของการรักษา ปกป้องแผ่นดิน ทำมาหากิน
ความรักอิสระในการประกอบอาชีพ ความสามัคคีของคนในชุมชน เมื่อเกิดภัยพิบัติ หรือปัญหาขึ้นมา
ด้วยถ้อยคำที่อ่านเข้าใจง่าย การพรรณาความที่มองเห็นได้ชัดเจนถึงธรรมชาติ ความเป็นอยู่ หรือประเพณี ของคนท้องถิ่น
ทำให้หนังสือเล่มนี้มีเสน่ห์น่าอ่าน และทำให้ผู้อ่านรู้สึกสนุกสนาน เพลิดเพลินไปด้วย
นอกเหนือจาก การได้เรียนรู้ ประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคม โดยไทยในยุคก่อนการพัฒนาทุนนิยมสมัยใหม่
ได้อย่างมีชีวิตชีวา



34. แลไปข้างหน้า - ศรีบูรพา 




แลไปข้างหน้า
ภาคปฐมวัย และภาคมัชฌิมวัย
(เขียนในช่วงปี 2495-2500)
ภาคปฐมวัยพิมพ์ครั้งแรกใน ปี 2498
ภาคมัชฌิมวัย พิมพ์ลงเป็นตอนๆ ในนิตยสารปิยมิตร ปี 2500 และรวมเล่ม ปี 2518 โดยชมรมหนังสืออุดมธรรม
ศรีบูรพา
(พ.ศ. 2448 - 2517)

ศรีบูรพา เป็นนามปากกา ของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (2448-2517)
นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ คนสำคัญของไทย ในช่วงตั้งแต่ทศวรรษ 2470 ถึงทศวรรษ 2500
มีผลงานเขียน ทั้งนิยาย เรื่องสั้น บทความ จำนวนมาก
งานเด่นๆ มี อาทิ สงครามชีวิต (2475) ข้างหลังภาพ (2480) เบื้องหลังการปฏิวัติ (2484) จนกว่าเราจะพบกันอีก (2493)
แลไปข้างหน้า (2498) รวมเรื่องสั้น และรวมบทความสั้นหลายเล่ม

แลไปข้างหน้า (ภาคปฐมวัยและภาคมัชฌิมวัย) เป็นนิยายชิ้นสำคัญของศรีบูรพา
เรื่องนี้เขียนขึ้น ระหว่างปี 2495-2500 ซึ่งเป็นช่วงที่ศรีบูรพา ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในที่คุมขัง ในฐานะนักโทษการเมือง
ผู้คัดค้านนโยบายของรัฐบาล ขณะที่ถูกจับกุม เขามีอายุ 47 ปี
เป็นนักหนังสือพิมพ์ นักเขียน ที่มีชื่อเสียงมากแล้ว
นิยายเรื่องนี้ ศรีบูรพาเขียนไม่จบ เนื่องจากหลังจากที่เขาพ้นโทษ ออกจากที่คุมขังมา ก็มีภารกิจด้านอื่น
และในปี 2501 ขณะที่เขาเดินทางไปประเทศจีน ในนามหัวหน้าคณะวัฒนธรรมไทย
ก็ได้เกิดการทำรัฐประหาร โดยจอมพลสฤษดิ์ขึ้น มีการกวาดล้างจับกุมนักการเมือง นักหนังสือพิมพ์ และนักเขียนจำนวนมาก
ทำให้ศรีบูรพาต้องขอลี้ภัย อยู่ในประเทศจีนเรื่อยมา จนถึงแก่กรรมในปี 2517

แลไปข้างหน้า ภาคปฐมวัย เป็นเรื่องสมัยเด็กของจันทา โนนดินแดง
เด็กบ้านนอกซึ่งมีโอกาสเข้ามาเรียนหนังสือชั้นมัธยม ในโรงเรียนผู้ดีในกรุงเทพฯ
เพราะการฝากฝังของเจ้าอาวาส และเพื่อจะได้เป็น "องครักษ์" ของลูกชายของขุนนางผู้ใหญ่คนหนึ่ง
เวลาที่กล่าวถึงในท้องเรื่อง เป็นช่วงปีพ.ศ.2470 กว่าๆ ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
บรรยากาศของท้องเรื่อง สะท้อนสังคมของชนชั้นสูง ที่ถือชั้นวรรณะ
ทั้งที่บ้านของท่านเจ้าคุณ ที่จันทาอาศัยอยู่ในฐานะบ่าวไพร่ หรือในโรงเรียนเทเวศร์รังสฤษดิ์
(ภาพจำลองของโรงเรียนเทพศิรินทร์ ที่ศรีบูรพาได้ไปเรียน ในยุคใกล้ๆ กันนั่นเอง)
ซึ่งจันทาถูกมองเหมือนคนที่มาจาก "โลกอีกโลกหนึ่ง"

ภาคมัชฌิมวัย เป็นเรื่องสมัยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เรื่อยมา จนถึงสงครามโลกครั้งที่ 2
ตัวละครสมัยเด็ก ต่างก็โตเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ และแยกย้ายกันไปประกอบอาชีพ
ภาคนี้ มีลักษณะจะสะท้อนภาพของสังคมการเมือง ที่มีผลกระทบต่อตัวละครต่างๆ กัน มากกว่าภาคแรก
และเนื่องจากเรื่อง หยุดชะงักลงกลางคัน ผู้เขียนเขียนไม่จบ จึงยากจะวิจารณ์ในแง่ของงานศิลปะได้เต็มที่
อย่างไรก็ตาม ภาคนี้ ศิลปะการเขียนโดยทั่วไป ก็อยู่ในเกณฑ์ดี ใกล้เคียงกับภาคปฐมวัย
แม้จะไม่มีตอนที่สะเทือนใจนัก และมีลักษณะเป็นการแสดงทัศนะที่คล้ายบทความอยู่หลายตอน แต่ก็เป็นความเรียงที่สละสลวย
โดยเฉพาะในบทแรก ที่บรรยายถึงเหตุการณ์ วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 นั้น
ศรีบูรพา บรรยายได้อย่างสง่างาม และมีพลังมาก

มองในแง่ความคิดแล้ว นิยายเรื่องนี้ สะท้อนให้เห็น ความคิดที่ก้าวหน้า
มากกว่านิยายเรื่องอื่นๆ ก่อนหน้านั้น ของศรีบูรพา ได้อย่างชัดเจน
ความคิดที่เด่นชัดของเขาคือ ความเชื่อในเรื่องความเสมอภาค ความยุติธรรม สิทธิเสรีภาพ
ความเจริญก้าวหน้า ความสงบสุขของประเทศ และของโลก
เขาได้สอดแทรกความคิดเหล่านี้ ไว้ในนิยาย ได้อย่างค่อนข้างแนบเนียน ด้วยความเป็นคนช่างสังเกต ถี่ถ้วน และละเอียดอ่อน
สิ่งหนึ่งเขาทำได้ดี ในนิยายเรื่องนี้ คือ การสะท้อนภาพ สังคมการเมือง และวัฒนธรรม ในยุคสมัยดังกล่าว ออกมาได้อย่างง่ายๆ แจ่มชัด



35. เสเพลบอยชาวไร่ - รงค์ วงษ์สวรรค์ 




เสเพลบอยชาวไร่
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2512
รงค์ วงษ์สวรรค์
(พ.ศ.2474 - )

เสเพลบอยชาวไร่ ปรากฏโฉมครั้งแรก ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ผ่านคอลัมน์ รำพึงรำพันโดยลำพู
เป็นผลงานที่แปลกออกไป จากแนวเรื่องของนักเขียนคนเดียวกัน
ซึ่งเวลาก่อนหน้านั้น ผู้คนที่ปรากฏบนหน้าวรรณกรรมของเขาล้วนอยู่ในแวดวงโสเภณี ผู้หญิงบาร์ แมงดา แม่เล้า โลกียชนในสังคมเมือง
และประสบกามของเขาและหล่อน โดยเฉพาะนวนิยายเรื่อง สนิมสร้อย ของรงค์ วงษ์สวรรค์
ประดุจวิทยานิพนธ์โสเภณี ในรูปนวนิยาย อันผู้รจนา ปล่อยตัวละคร ได้เล่นเต็มบท สมจริง
และมีรงค์ วงษ์สวรรค์ วางอุเบกขา ดับทุกข์สุขของผู้คน ในหน้ากระดาษ

รงค์ วงษ์สวรรค์ ให้ลมหายใจ แจ้ง ใบตอง เฉ่ มะเขือพวง ทอง มะขามอ่อน ฝืด ตำแย และ ฯลฯ
ด้วยความชำนิทางภาษา และดูแปลก นับแต่ชื่อของเขา หล่อนกวักความรู้สึกน่าสนใจ
ฉากข้างหลังตัวละคร คือ ชนบท ที่ผู้คนยังเป็นสุข (หรืออาจทุกข์) ตามอัตภาพ
รัฐดูจะเข้าไปเกี่ยวข้องน้อยเต็มที่ ชีวิตพออยู่พอกิน เพราะความสมบูรณ์ของธรรมชาติ
ลักษณะทางสังคม ยังให้ความสนใจแก่กัน จนมีประเด็นนินทา อย่างสราญรมย์
กลุ่มตัวละครที่มีแจ้ง ใบตอง เป็นสายใย หรือแกนสัมพันธ์ เขาเป็นโลกียชนระดับไม่ล้ำหน้า ไปกว่าวิถีชีวิตส่วนใหญ่ของสังคมไทย
แม้พวกเขาจะเป็นคนส่วนน้อย ที่อาจจะล่วงศีลข้อกาเม ขโมยไก่วัด หรือบางรายพี้กัญชา และกินใบกระท่อม
แต่ยังคงมีบรรทัดฐาน วัดใจเรื่องความดีงาม
ดังการตั้งคำถาม ต่อคำสรรเสริญ ชนิดพอเขาตายไปแล้ว ใครๆ ก็ว่าเขาดีทั้งนั้น
ขณะที่มีชีวิตอยู่ คนๆ นั้น ดูจะเป็นคนละคน กับคำสรรเสริญหลังตาย
(เมืองข้างโลงของจอน บางขนุน)

ลีลาการเขียนที่มีอิทธิพลสูง ทั้งต่อนักเขียนและนักอ่านนี้
มีรากฐานอยู่ที่ ประสบการณ์ชีวิตของตนเอง และความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในประสบการณ์ของผู้ร่วมสังคมของเขา
ความจริงใจ ในการสะท้อนภาพชีวิตดังกล่าว จึงแจ่มชัด และกระทบใจผู้อ่าน
โลกทัศน์อันอิสระ และความจริงใจ ที่ถ่ายทอดผ่านเอกลักษณ์ทางวรรณศิลป์ดังกล่าว
ทำให้งานของ รงค์ วงษ์สวรรค์ เป็นบันทึกทางสังคมที่ทรงคุณค่า



36. จดหมายจากเมืองไทย - โบตั๋น 




จดหมายจากเมืองไทย
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2513 สำนักพิมพ์แพร่พิทยา
โบตั๋น
(พ.ศ. 2488 - )

จดหมายจากเมืองไทย เป็นนวนิยายเล่มแรก ที่สะท้อนความเป็นจริง ทั้งด้านชีวิตความเป็นอยู่ และความคิดจิตใจ ของคนจีนในไทย
ที่อพยพมาจากจีนผืนแผ่นดินใหญ่ ในช่วงเวลาที่ประเทศจีนกำลังเผชิญกับสงครามภายในหมู่ขุนศึก และสงครามรุกรานจากญี่ปุ่น

ตันส่วงอู๋ เป็นแบบฉบับของจีนฮั่น ที่ถือความสำคัญสูงสุดของผู้ชายเป็นหลัก
ประกอบกับยึดมั่น ในความเชื่อแบบลัทธิขงจื้อ ตันส่วงอู๋ จึงเป็นคนที่รับผิดชอบ ในหน้าที่การงาน อย่างซื่อสัตย์สุจริต
และขยันหมั่นเพียร หนักเอาเบาสู้ ทุกสภาพการณ์ต่อคนจีนที่สัมพันธ์ในระดับชั้นต่างๆ
ตันส่วงอู๋ ก็มีความนอบน้อม คารวะ มีกตัญญู รู้เคารพเทิดทูนเถ้าแก่ ผู้เป็นนายจ้าง
ซึ่งต่อมา เปลี่ยนฐานะเป็นพ่อตา รู้บุญคุณของพ่ออุปถัมภ์ ที่ช่วยฝากฝังให้ได้งานทำ ทันทีที่ขึ้นจากเรือเดินทะเล

ตันส่วงอู๋ เกลียดและดูหมิ่นเหยียดหยามคนไทย คนท้องถิ่น เจ้าของประเทศว่า
เป็นคนขี้เกียจสันหลังยาว เอาแต่เมาเหล้า เล่นการพนัน ไม่รับผิดชอบครอบครัว ไม่ตั้งหลักฐานทำมาหากิน
ชอบเป็นคนรับใช้ หรือเที่ยวขอทาน กระทั่งขายตัวในบาร์เหล้า ฯลฯ

แต่ในที่สุด ตันส่วงอู๋ ก็มีประสบการณ์เจ็บปวด ทำให้เขาเข้าใจชีวิต เข้าใจความเป็นจริง ทางสังคมด้านต่างๆ มากขึ้น
เช่น ระหว่างลูกสาวกับลูกชาย ลูกชายทำเรื่องเหลวแหลก ประชด และต่อต้าน การเลี้ยงดูครอบงำ แบบเผด็จการของพ่อ
จนหนีไปใช้ชีวิตกับหญิงพาร์ตเนอร์ เป็นโสเภณีขายตัว
แต่ลูกสาวคนเล็ก กลับขยันขันแข็ง เล่าเรียนสูง จนช่วยทำบัญชีให้พ่อได้
ถึงลูกสาวคนเล็ก จะแต่งงานกับผู้ชายไทย ที่พ่อเกลียด ทว่า เขยใหม่คนนี้ กลับเป็นคนมีอุดมคติ
มีอาชีพเป็นครู โรงเรียนสาธิต เรียนจนจบปริญญาโท
เป็นคนรักศักดิ์ศรี และหยิ่งในเกียรติ ไม่ยอมรับเงินช่วยเหลือ จากพ่อตาเลยสักบาท
สุดท้าย ยามตันส่วงอู๋ ตัดสินใจเลิกกิจการค้า แบ่งมรดกให้ลูกชาย และลูกสาวเกือบหมดนั้น
ก็ไม่มีลูกคนไหน เหลียวแลเลี้ยงดู จนลูกสาวคนเล็กและลูกเขยคนไทย ต้องเอาตัวไปอยู่ด้วยในชุมชนเล็กๆ ของกลุ่มคนไทย
ตันส่วงอู๋ จึงได้เรียนรู้ เข้าใจวิถีชีวิตของคนไทย ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

ตอนที่โบตั๋นเขียน จดหมายจากเมืองไทย ลงเป็นตอนๆ ในสตรีสาร
เคยถูกโจมตีว่า สร้างความแตกแยกระหว่างคนจีนกับคนไทย
แต่หากอ่านแต่ต้นจนจบ โดยไม่มีอคติล่วงหน้าแล้ว จดหมายจากเมืองไทย
จะมีส่วนช่วยให้ผู้อ่าน เข้าใจพื้นฐานความคิด จิตใจ วัฒนธรรม ของคนจีนในเมืองไทย และคนไทย เจ้าของแผ่นดินมากขึ้น
จึงจัดเป็นหนังสือที่ควรค่าแก่การอ่านอย่างยิ่งเล่มหนึ่ง



37. เขาชื่อกานต์ - สุวรรณี สุคนธา 




เขาชื่อกานต์
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2513
สุวรรณี สุคนธา
(พ.ศ.2475-2527)

เรื่องราวของชีวิตหมออุดมคติ ผู้มีอดีตที่ยากจน และต้องการออกไปอยู่ในชนบท
เพื่อจะได้ใช้ความรู้ ความสามารถของตน ออกรับใช้บริการคนบ้านนอก คนยากจน
ผู้มีชีวิตอย่างยากจน แร้นแค้นและขาดแคลนหมอรักษาโรคแผนใหม่

คุณค่าของนวนิยายเรื่องนี้ อยู่ที่จุดเกิดของนวนิยาย ที่เกิดขึ้นมาในยุคมืด ช่วงที่ 2 ของสังคมไทย
คือ ช่วงรัฐบาลถนอม-ประภาส ที่สืบอำนาจต่อจากยุคเผด็จการ ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
ซึ่งในยุคนี้ นวนิยายต่าง ๆ ที่ตีพิมพ์เผยแพร่อยู่ในบรรณพิภพส่วนใหญ่เป็นนวนิยายพาฝัน เรื่องรักๆ ใคร่ๆ ในครอบครัว
ที่เรียกกันว่าน้ำเน่า เป็นส่วนใหญ่
เขาชื่อกานต์ จึงถือได้ว่า เป็นงานวรรณกรรม ที่มีลักษณะบุกเบิกทางความคิด ซึ่งขาดช่วงหายไปเป็นเวลากว่า 10 ปี

โครงเรื่อง (Plot) เป็นการวางโครงเรื่องที่แฝงเรื่องโรแมนติกในเชิงชิงรักหักสวาทที่กำลังเป็นที่นิยมอยู่ในยุคขณะนั้น
ในด้านการสร้างโครงเรื่องของเขาชื่อกานต์ ค่อนข้างจะเป็นเรื่องง่ายๆ ไม่สลับซับซ้อน
เมื่อเทียบกับจุดเด่น ในการสร้างตัวละคร (Character) ของสุวรรณี
ในด้านภาษาเขียน สุวรรณี สุคนธา เขียนได้เรียบง่าย และสละสลวย

กล่าวโดยรวม สุวรรณี สุคนธา ได้ฝากงาน ที่เขียนอย่างมีอุดมคติไว้ อันเป็นการทำให้เกิดความสมดุลของผลงานวรรณกรรมของตน
ซึ่งมีอยู่อย่างมากมาย หลากหลาย และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กัน ทั้งในเชิงบวก และเชิงลบในหมู่นักอ่าน และนักวิจารณ์งานวรรณกรรม
แต่ผลงานเรื่องเขาชื่อกานต์นี้ คงจะหาผู้วิจารณ์ ในเชิงลบได้ยาก และเป็นผลงานที่สะท้อนสังคมไทย ในทศวรรษ 2510 ที่ดีที่สุดของเธอ



38. สร้างชีวิต - หลวงวิจิตรวาทการ 




สร้างชีวิต
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2514
หลวงวิจิตรวาทการ
(พ.ศ. 2441-2505)

หลวงวิจิตรวาทการ เป็นนักเขียน ข้าราชการ นักการเมือง นักเขียนบทละคร เพลงปลุกใจ
มีชื่อเสียง ประสบความสำเร็จในทุกๆ ทาง ตามสภาพเงื่อนไขของสังคมไทยในสมัยนั้น
ผลงานของเขาที่รู้จักกันดียิ่ง เป็นผลงานด้านวิชาการและสารคดี
เช่น หนังสือเรื่องวิชชาแปดประการ ประวัติศาสตร์สากล มหาบุรุษ มันสมอง กุศโลบาย และศาสนาสากล เป็นต้น
รวมจำนวนหนังสือด้านนี้ ที่เขาแต่งไว้มีจำนวนถึง 49 เล่ม
และที่เป็นปาฐกถาคำบรรยาย สอนในสถาบันการศึกษาชั้นสูง ของประเทศ อีกจำนวน 24 เรื่อง
นวนิยาย ทั้งเรื่องยาว และเรื่องสั้น ในแนวทาง อันจรรโลงโลก สนับสนุน ให้ผู้คน ต่อสู้ เพื่อเอาชนะ อุปสรรคทั้งปวง ถึง 84 เรื่อง

ในช่วงก่อนที่เขา จะร่วมงานใกล้ชิดกับจอมพล ป.
เขาเป็นนักเขียน ที่มีชื่อเสียง และได้รับความนิยมมาก
โดยเฉพาะหนังสือประเภท สร้างตัวเอง ประวัติศาสตร์ และความรู้ด้านต่างๆ
แต่หลังจากที่เขา เล่นการเมือง แบบรับใช้ผู้มีอำนาจ อย่างถึงที่สุด ทั้งในยุคจอมพลป. และยุคจอมพลสฤษดิ์
ทำให้ปัญญาชน มักจะมองเขาในแง่ไม่ค่อยให้ความสำคัญ
แต่กล่าวในเชิงบทบาททางวรรณกรรมแล้ว เขามีบทบาทสูงคนหนึ่ง

นวนิยายแนวแปลก เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ หลวงวิจิตรวาทการ ได้แต่งไว้เป็นวรรณกรรมชิ้นสุดท้ายในชีวิตของเขา
คือ นวนิยายเรื่อง สร้างชีวิต ซึ่งอาจเป็นงานที่มีชื่อเสียงน้อยกว่างานชิ้นอื่นๆ
แต่มีความล้าสมัยด้วยกาลเวลาน้อยกว่าด้วยเช่นกัน
พอใจในการต่อสู้ ยินดีเผชิญหน้าศัตรู กล้าฝ่าฟันอุปสรรค (คำนำ)

ผู้เป็นตัวเอก และบุคคลตัวอย่าง ในนวนิยายเรื่องนี้ คือ หญิงสาว จากครอบครัวชาวนา นามว่าเรไร
การต่อสู้ชีวิตของเรไรนั้น เธอต่อสู้กับข้อจำกัดแห่งการเป็นชาวนา ที่ไร้ทั้งทรัพย์สิน เงินทอง ไร้ทั้งการศึกษา
แม้เรไร จะได้เรียน เพียงชั้นประถม แต่เธอขวนขวาย ช่วยพ่อแม่ทำงาน พ่อแม่ทำนา ตัวเธอปลูกผัก และเลี้ยงไก่
เรไรเจียดเงินจากการขายผัก และไก่นั้น มาเพื่อซื้อหนังสืออ่าน เพิ่มความเข้าใจโลกให้แก่ตัวเธอเอง
วันหนึ่ง เรไรได้รู้จักกับคฤหบดี บ้านนายสมพร ผู้ซึ่งเมื่อรู้จัก ประวัติชีวิตของเธอ ก็นึกเอ็นดูจึงอนุญาตให้เธอ มายืมหนังสือไปอ่าน
เรไรจึงเติบโตขึ้นมา อย่างผู้มีความรู้ดีคนหนึ่ง ประกอบกับการช่างคิด ช่างสงสัย
ก็ยิ่งทำให้เรไร กลายเป็นชาวนาที่มีความคิด และบุคลิกภาพ แบบปัญญาชน
เรไร "สร้างชีวิต” ของเธอได้สำเร็จ แม้จะได้รับบาดแผล อยู่ไม่น้อย
แต่กลับดูไม่สลักสำคัญ เรไรฟันฝ่าอุปสรรค ครั้งแล้วครั้งเล่า ด้วยท่าทีของผู้เข้าใจโลก เข้าใจชีวิต
เรไรดูแข็งแกร่ง มีสติ และมั่นใจ ในชัยชนะของเธอ ที่จะต้องมีมาทุกครั้ง หลังคลื่นใหญ่ ลมแรง
เรไร เริ่มต้นจากการออกจากอ้อมอกครอบครัว ไปเป็นเมียน้อยเศรษฐี อย่างไม่สะทกสะท้าน
และรับมือกับทุกๆ เหตุการณ์ ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ด้วยจิตใจอันเข้มแข็ง มั่นคง
และบางทีอาจบวกความเย็นชา เอาไว้ด้วย
ผู้อ่านชาวไทย อาจจะประหลาดใจอยู่บ้างเหมือนกัน กับผู้หญิงบุคลิกที่เต็มไปด้วยเหตุผล และเกือบปราศจากความรู้สึกแบบเรไร

"สร้างชีวิต” เป็นนวนิยายที่ก็มีประเด็นทางความคิด ที่น่าสนใจมาก
หลวงวิจิตรวาทการ ได้นำเสนอวิธีการมองปัญหาชาวนาอย่างใหม่
สำหรับเวลานั้น (2514) เขากล้าที่จะแฉ โพยปัญหา เรื่องชนชั้น
และกล้าโต้แย้งว่า ปัญหาลัทธิ (คอมมิวนิสต์) ยังไม่สำคัญเท่ากับปัญหาการขูดรีดที่มีอยู่จริงๆ
นอกจากนี้ สร้างชีวิต ยังปลุกใจ ให้คนกล้าต่อสู้ กล้าเอาชนะโลก
ซึ่งแม้จะดูมืดมิดแล้ว ก็ยังคงมีทางสู้อยู่นั่นเอง
ในตอนหนึ่ง เรไรได้รำพึงว่า โลกเป็นของคนร้าย ไม่ใช่ของคนดี
เพราะคนร้าย ย่อมเป็นคนฉลาด คนดีย่อมเป็นคนโง่
ทางเดียวที่จะปฏิวัติสังคมมนุษย์ ก็คือ ทำให้คนดี มีความฉลาดขึ้นมา ด้วยการศึกษา หาความรู้ ให้ทันคนร้าย
จนกระทั่ง มันจะทำร้ายไม่ได้ นั่นแหละ สังคมจึงจะได้รับความยุติธรรม
ตราบใดที่โลกยังเป็นสมบัติของคนร้าย โลกก็ไม่มีความผาสุก
โลกจะมีความผาสุก ต่อเมื่อโลกกลับกลายเป็น สมบัติของคนดี” (หน้า 53)



39. ตะวันตกดิน - กฤษณา อโศกสิน 




ตะวันตกดิน
พิมพ์รวมเล่มครั้งแรก ธันวาคม 2515 โดยบริษัทสำนักพิมพ์โชคชัยเทเวศร์
กฤษณา อโศกสิน
(พ.ศ. 2474 - )

ตะวันตกดิน สะท้อนให้เห็นด้านดี และด้านชั่วของมนุษย์
และได้ขยายจากเรื่องกามารมณ์ให้กว้างออกไป สู่เรื่องของการดำเนินไป ของชีวิต ในสังคมด้วย
โดยผู้เขียน สร้างให้โสรวาร ปสันนาวิทย์ ตัวละครเอกของเรื่อง เป็นตัวแทนของมนุษย์
ผู้เต็มไปด้วยกิเลส ตัวที่ว่าด้วยความทะเยอทะยาน อยากมี อยากเป็น
ชีวิตครอบครัวที่ยากจน ทำให้เขาปรารถนา การได้รับการยอมรับ มีสถานภาพในสังคมที่ดีขึ้น
ดำรงตำแหน่ง หน้าที่การงานที่ดี มีความร่ำรวย สุขสบาย จนยอมทำในสิ่งที่ขัดต่อความดีงามในมโนสำนึก

กฤษณา อโศกสิน ยังชี้ให้เห็น ตัวปัญหาสำคัญที่มาจากเรื่อง กามารมณ์
ตัวละครทุกตัวที่พยายามดำรงสถานภาพในสังคม แก่งแย่งแข่งขัน
ต่างใช้กามารมณ์เป็นเครื่องมือในการพาตนเอง ไต่เต้าไปสู่จุดหมาย หรือสู่จุดหวัง
โดยไม่จำกัดเพศ วัยหรืออายุ หรือสถานะทางสังคม ในลักษณะจำยอม และหรือไร้อายในที่สุด

แม้มุมและภาพชีวิตที่กฤษณา อโศกสิน เลือกสะท้อน จะเป็นมุมและภาพที่เน้นการเกี่ยวพันกับคนระดับสูงของสังคม
ทั้งยังเน้นให้เห็นบรรยากาศของการฟุ้งเฟ้อ และการหมกมุ่นอยู่กับชีวิตส่วนตัวที่น่าละอายเป็นอย่างยิ่ง
แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาพและมุมชีวิตเหล่านั้น ก็คือ ความเป็นไปของชีวิตของคนในสังคมที่มีอยู่จริง
ทั้งผู้เขียนยังทำให้เกิดการตระหนักในการดำเนินชีวิตของมนุษย์คนหนึ่งๆ
ที่ดูว่า มีปัจจัยต่างๆ มากมายเหลือเกิน เข้ามาเกี่ยวข้อง และคนที่มีสติ ไม่เลื่อนไหล ไปตามวัตถุ หรือผู้คนที่แวดล้อม โดยง่ายเท่านั้น
จึงจะสามารถ พาชีวิต ไปสู่ความถูกต้อง ดีงาม อันน่าภาคภูมิใจได้



40. สร้อยทอง - นิมิตร ภูมิถาวร


สร้อยทอง
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2517
นิมิตร ภูมิถาวร
(พ.ศ. 2478 - 2524)

สร้อยทอง เป็นนวนิยายขนาดสั้นที่ดำเนินเรื่องกระชับ ปมประเด็นของเรื่องเปิดตั้งแต่บทต้น พร้อมๆ ไปกับการปล่อย ตัวละครสำคัญๆ ออกมา
การเริ่มต้นเช่นนี้ เชื้อชวนให้ผู้อ่านใช้จินตนาการเป็น "ผู้ประพันธ์" เรื่องควบคู่ไปด้วย
ทำให้การอ่านกับการวาดเรื่องในใจ ปะทะสังสรรค์กัน ระหว่าง "ผู้ประพันธ์ในกระดาษ" กับ "ผู้ประพันธ์ในใจ"
ความสัมพันธ์นี้ มิเพียงแต่จะทำให้ เรื่องอ่านสนุก มีรสมีชาติ ในแง่ของผู้อ่านมากขึ้น
เชิงการเขียนของผู้เขียน (ผู้มาจากครูในชนบท) ช่ำชองในเรื่องเกี่ยวกับที่เขาสันทัดอยู่เป็นทุน
ในหลาย ๆ บท มีฉาก บรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับชีวิต ในชนบทอยู่มาก
จนบางครั้ง อาจจะมากเกินไป แต่ก็ใช่ว่า จะเสียอรรถรสสำหรับผู้อ่าน ที่ส่วนใหญ่แล้ว เห็นเป็นเรื่องแปลกใหม่
เช่น การดักนกเขา การหากบ การไปติดต่ออำเภอ การซ่อมกระท่อม ฯลฯ
ฉากชนบทเหล่านี้ บ้างก็เล่าด้วยว่ามีค่าในตัวของมันเอง แต่โดยรวมๆ แล้ว ก็ประสานกลืนกันกับท้องเรื่อง

แต่ละบทของ สร้อยทอง แบ่งตามฉากเหตุการณ์ และตัวละคร ที่มีบทบาทหลัก เนื้อหาอยู่ทั้งในลักษณะที่ ปิดฉากนั้นๆ ไป
ในขณะเดียวกัน ก็ "ส่งลูก"ต่อไปให้บทที่ตามมาได้อย่างต่อเนื่อง
การแบ่งเนื้อหาทั้งเรื่อง เป็นส่วนๆ นั้น มีสัดส่วนกะทัดรัดหมาะสม การเล่าเรื่องนั้น เนิบนาบ
ทำนองเดียว กับความเชื่องช้าในชนบท ทั้งๆ ที่ เหตุการณ์ที่เป็นไป อย่างไม่เร่งรีบ
แต่เรื่องราวที่เกิดขึ้นนั้น หนักหน่วง ในความรู้สึกของตัวเอกของเรื่อง คนที่ไร้อำนาจในสังคม
ปัญหาที่ดูเหมือนเล็กน้อย สามารถนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ และรวมสั่งสม จนเป็นเรื่องใหญ่โตได้
เรื่องจึงดำเนินไป เหมือนคลื่นใต้น้ำ ส่วนผิวน้ำ ที่สังเกตเห็นได้นั้น เรื่องไหลไปอย่างราบเรียบ
น้ำเสียงของผู้เล่า เป็นน้ำเสียงของเรื่องบนผิวน้ำ เพราะฉะนั้น จึงเป็นน้ำเสียง ที่ไม่ได้มุ่งจะเร้าอารมณ์เศร้า หรือให้สงสาร
ความจริงแล้ว ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นประจำอยู่แล้ว ในชนบทไทย
จึงเป็นเรื่องที่ไม่ได้เรียกน้ำตา แต่ชี้ให้รู้สึกที่จะแก้ไข
ส่วนจะรู้สึกหรือไม่ ขึ้นอยู่กับ "ผู้ประพันธ์ในใจ" ที่จะเล่าให้มโนธรรมของตนเอง ฟังด้วยน้ำเสียงอย่างไร
และจะแต่งเรื่องต่อไปจากที่นิมิตร ได้จบลงแล้ว อย่างไร



41. พิราบแดง - สุวัฒน์ วรดิลก 




พิราบแดง
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2517
สุวัฒน์ วรดิลก
(พ.ศ. 2466 - )

สุวัฒน์ เริ่มเขียนพิราบแดง เมื่อปีพ.ศ.2500 เมื่อเขามีวัย 34 ปี ในปีนั้น
เขา ผู้นำคณะศิลปินไทย เดินทางไปแสดงในประเทศจีนใหม่
เพื่อกระชับและเปิดความสัมพันธ์ ระหว่างประชาชนไทยและจีน เป็นคณะแรก
ภายหลังจาก จอมพลสฤษดิ์ ทำรัฐประหารได้จับกุม นักการเมือง นักเขียน ปัญญาชน ฝ่ายก้าวหน้า จำนวนมาก
สุวัฒน์ ก็ถูกจับกุม คุมขัง ข้อหาการเมืองด้วย
เขามาเขียนเรื่องนี้ต่อ เอาภายหลังจาก เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

คุณค่าของนวนิยาย เรื่องพิราบแดง ที่เด่นๆ มีอยู่อย่างน้อย 3 ประการ คือ
1. สาระ
2. ตัวละคร ที่เป็นสัญลักษณ์ หรือตัวแทน ของเยาวชน ผู้มีความเสียสละ และอุทิศตน เพื่อบรรลุอุดมคติของตน และ
3. บทบาททางประวัติศาสตร์ ของนวนิยายเล่มนี้ เมื่อตีพิมพ์ออกมา สาระของพิราบแดง มีลักษณะเป็นสากล
และไม่ขึ้นต่อกาลเวลา มีลักษณะสร้างสรรค์ ต่อสังคม
โดยการเรียกร้อง ความเสียสละ เพื่อพิทักษ์รักษา ความยุติธรรมของสังคม
เรียกร้องสันติภาพถาวร และคัดค้าน การเอารัดเอาเปรียบของมหาอำนาจต่างชาติ

ตัวละคร เป็นตัวแทนของผู้หญิงยุคใหม่ ที่ผู้เขียนต้องการจะเห็น หรือให้เกิดขึ้นในสังคมไทย
คือ เป็นผู้หญิง ที่มีความคิด มีความเสียสละ มีความรักชาติ รักความเป็นธรรม
โดยเฉพาะ ในภาวะที่ผู้หญิง ในสังคมตะวันออก ไม่ว่าจะเป็นจีน ญี่ปุ่น หรือไทย
ยังมีค่านิยมว่าเป็นช้างเท้าหลังอยู่ และตัวละครเช่นนี้ ยังมีไม่มากในนวนิยายไทย
ไห่เยี่ยน จึงเป็นแบบอย่าง ของผู้หญิงยุคใหม่ ของเยาวชนรุ่นใหม่
โครงเรื่อง หรือการผูกเรื่อง และการเดินเรื่องของพิราบแดง ไม่น่าเบื่อหน่าย
มีความผสมผสาน กลมกลืน ชวนติดตาม อ่านสนุก
และสร้างความสะเทือนใจ เช่น บทที่ 8 ตอนแม่ของประชาชน เป็นต้น
ความรัก ระหว่างวัชระ และไห่เยี่ยน ซึ่งมีโอกาสได้ใกล้ชิดกัน และทั้งคู่มีอุดมคติ และทัศนะคติในการมองดูโลก
โดยเฉพาะ ทางด้านการเมือง ที่คล้ายคลึงกัน ก็เป็นความรักที่สะอาดบริสุทธิ์
ไม่ได้ปล่อยให้อารมณ์ นำพาไปสู่การละเมิดจารีต ประเพณี และศิลธรรม แต่เป็นความรักในทรรศนะใหม่



42. ลูกอีสาน - คำพูน บุญทวี 




ลูกอีสาน
พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2519 (บรรณกิจ)
คำพูน บุญทวี
(พ.ศ. 2471 - )

ลูกอีสาน เป็นการนำเอาเรื่องราวจากประสบการณ์ที่ผู้เขียนพบเห็น ถ่ายทอดในรูปนิยาย
โดยได้เขียนเป็นตอนๆ ประมาณ 36 ตอน เพื่อพิมพ์ลง ในนิตยสารฟ้าเมืองไทย ช่วงปีพ.ศ.2518-2519
ลูกอีสาน ใช้วิธีการเล่าเรื่องราว โดยผ่านเด็กชายคูนหนึ่ง ซึ่งใช้ชีวิตอยู่ในถิ่นชนบทของอีสาน
แถบที่จัดได้ว่า เป็นถิ่นที่แห้งแล้ง แห่งหนึ่งของไทย
ผู้เขียนได้เล่าถึง ขนบธรรมเนียม ประเพณี ตลอดจน ความเชื่อของชาวอีสาน
รวมไปถึง การบรรยายถึงสภาพความเป็นไปตามธรรมชาติของผู้คน และสภาพแวดล้อม
เช่น การเกี้ยวพาราสีกัน ของทิดจุ่น และพี่คำกอง
จนท้ายที่สุด ก็ได้แต่งงานกัน การออกไปจับจิ้งหรีดของคูน การเดินทางไปหาปลา ที่ลำน้ำชี เพื่อนำปลามาทำอาหาร
และเก็บถนอม เอาไว้กินนานๆ ด้วยการทำปลาร้า เป็นต้น
นอกจากนั้น ยังแทรกความสนุกสนาน เพลิดเพลิน จากการทำบุญ ตามประเพณีไว้หลายตอนด้วยเช่นกัน
ได้แก่ การจ้างหมอลำหนู ซึ่งเป็นหมอลำประจำหมู่บ้าน ลำคู่กับหมอลำฝ่ายหญิงที่ว่าจ้างมาจากหมู่บ้านอื่น
ทั้งกลอนลำ และการแสดงออกของหมอลำทั้งสอง สร้างความสนุกสนาน ครึกครื้น แก่ผู้ชมที่มาเที่ยวงานอย่างมาก
ลูกอีสาน เป็นการถ่ายทอดเรื่องราว จากประสบการณ์ ด้วยภาษาที่ตรงไปตรงมา
และแสดงให้เห็นวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของชาวอีสานว่า ต้องเผชิญกับความยากลำบากอย่างไร
การเรียนรู้ ที่จะอดทนเพื่อเอาชนะ กับความยากแค้นตามธรรมชาติ
ด้วยความมานะบากบั่น ความเอื้ออารี ที่มีให้กันในหมู่คณะ ความเคารพ ในระบบอาวุโส
สิ่งเหล่านี้ ปรากฏอยู่ในแต่ละตอน ของลูกอีสาน รวมทั้ง การแทรกอารมณ์ขัน ลงไปด้วย


_________________
ปลูกต้นรักเต็มลานบ้านไร้รัก
คอยให้คนมาทักมาถามหา
ยังไม่มีแม้เงาเฝ้ารอมา
จนดอกรักโรยราคาต้นรัก

หรือว่ารักไร้ค่าราคาถูก
จะได้ปลูกต้นโศกต้นอกหัก
ให้หัวใจคนจรมาผ่อนพัก
พอได้ทักได้ทายหัวใจกัน