
'101 เล่มในดวงใจนักเขียนและนักอ่าน' ถึงจะไม่ได้ระบุชัดว่าเป็นหนังสือดีหรือไม่อย่างไร แต่อย่างน้อยก็เหมือนเป็นการสะท้อนถึงรสนิยมการอ่าน

แทบทุกคนอาจจะคุ้นเคยกับรายชื่อ 'หนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน' ซึ่งเป็นการคัดเลือกหนังสือดีมีคุณค่าต่อสังคมไทยในรอบศตวรรษ ทว่า '101 เล่มในดวงใจนักเขียนและนักอ่าน' ถึงจะไม่ได้ระบุชัดว่าเป็นหนังสือดีหรือไม่ดีอย่างไร แต่อย่างน้อยๆ ก็เหมือนเป็นการสะท้อนถึงรสนิยมการอ่านของคนไทยจำนวนหนึ่ง ณ เวลานี้
หลังจากที่ สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านในหัวข้อ 'ร้อยหนังสือในดวงใจนักเขียน ร้อยนักเขียนในดวงใจนักอ่าน' โดยจัดเป็นกิจกรรมใหญ่ๆ ทั้ง 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ นอกจากมีการเสวนาถึงหนังสือในดวงใจนักเขียน และนักเขียนอ่านหนังสือของตนเองให้นักอ่านฟัง ตลอดจนให้นักอ่านพูดถึงหนังสือในดวงใจของตนเองแล้ว ยังมีการตอบแบบสำรวจทุกครั้งที่มีกิจกรรมมากกว่า 32 ครั้ง
ล่าสุด สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ได้จัดงานแถลงข่าว 'กว่าจะเป็น 101 เล่มในดวงใจนักเขียนและนักอ่าน' ขึ้นเมื่อวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา ณ ห้องอาหารนิวออร์ลีนส์ผับแอนด์เรสเตอรองท์ สะพานผ่านฟ้า นำโดย ชมัยภร แสงกระจ่าง นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย, วันทนีย์ นามะสนธิ ผู้แทนบริษัท ซีพีออลล์ ผู้สนับสนุน, ผศ.ดร.สุวรรณา เกียงไกรเพ็ชร์ นักวิชาการและนักวิจารณ์วรรณกรรม, นรีภพ สวัสดิรักษ์ ฝ่ายกิจกรรมสัมมนา และดำเนินรายการโดย เจน สงสมพันธุ์
ชมัยภร แสงกระจ่าง เกริ่นนำว่า... "เนื่องจากทางสมาคมนักเขียนฯ ได้ทำสัมมนา 4 ภูมิภาคมา 3 ครั้งแล้วก่อนที่จะมาทำโครงการนี้ คือ สัมมนานักเขียนในปีแรก ปี 2550 ถัดมาปี 2551 เป็นสัมมนานักอ่าน และถัดมาปี 2552 เป็นสัมมนานักเขียนและนักอ่าน ทีนี้ประจวบกับรัฐบาลประกาศให้ปี 2552-2561 เป็นทศวรรษการอ่านแห่งชาติ คิดว่างานของสมาคมนักเขียนฯ น่าจะทำให้สอดคล้องกับทั้งวาระการอ่านแห่งชาติและโครงการที่จะได้ทำทั้ง 3 โครงการ เพื่อให้มีพลังมีน้ำหนักมากขึ้นว่าสิ่งที่เราทำไปนั้นมันสามารถที่จะสานต่อกันได้ สามารถวิเคราะห์และส่งผลต่อไปข้างหน้าได้ เลยตั้งโครงการสัมมนาชื่อ 'ร้อยหนังสือในดวงใจนักเขียน ร้อยนักเขียนในดวงใจนักอ่าน' ความหมายได้ทั้ง '100 เล่ม' และได้ทั้ง 'ร้อย' ที่แปลว่าผูกพันด้วย
เมื่อคิดได้อย่างนี้แล้วการทำสัมมนา 4 ภูมิภาคจะไม่ทำเปล่าๆ จะพ่วงมาด้วยวาระการอ่านแห่งชาติ เลยทำแบบสำรวจไปด้วยว่าหนังสืออะไรที่อยู่ในดวงใจของคนอ่านหรือในดวงใจของนักเขียน-นักอ่านทั่วประเทศ แม้ว่าจะไม่มีเงินสนับสนุนมากมายเหมือนรัฐบาล แต่ว่าเราสามารถที่จะทำในกลุ่มของนักเขียน-นักอ่าน ไม่ได้ทำสำหรับประชากรทั้งประเทศ แต่ทำสำหรับนักเขียน-นักอ่าน ฉะนั้นเราทำในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเขียน-การอ่าน ไม่ว่าจะเป็นการอภิปราย การเสวนา หรือว่าการปาฐกถา หรือว่าการทำค่าย หรือการทำกิจกรรมอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการอ่าน-การเขียนโดยจะส่งแบบสำรวจไป"
ผู้ตอบแบบสำรวจประกอบด้วย สมาชิกสมาคมนักเขียนฯ หรือจากผู้อ่านนิตยสารต่างๆ เช่น นิตยสารบางกอก สกุลไทย ขวัญเรือน และโคโคโระ และมีสัมมนากับ 4 สถาบันที่ให้ความร่วมมือคือ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยพายัพ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง จังหวัดราชบุรี และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ฉะนั้นสถาบันต่างๆ เหล่านี้เสมือนเป็นเจ้าภาพร่วมด้วย
นรีภพ สวัสดิรักษ์ เล่าถึงบรรยากาศว่า "เราไปทั้งหมด 4 ภูมิภาค เริ่มจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม แล้วไปที่มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง จังหวัดราชบุรี จากนั้นขึ้นเหนือไปมหาวิทยาลัยพายัพ จังหวัดเชียงใหม่ และลงไปมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ งานสัมมนาในภาคเช้าก็จะเป็นของคณะนักเขียนจากส่วนกลางและท้องถิ่นขึ้นไปพูดถึงหนังสือในดวงใจของนักเขียน แล้วในส่วนของภาคบ่ายก็จะเป็นของนักศึกษามาพูดถึงเรื่องหนังสือในดวงใจของเขาหรือของหนู เหตุผลทำไมถึงชอบหนังสือเล่มนั้น กรอกทั้งหมด 3 เล่ม พร้อมด้วยเหตุผล บรรยากาศตรงนี้น่าสนใจมากและคึกคักทุกที่เลย เป็นบรรยากาศที่เราประทับใจจากการออกไปสำรวจทั้ง 4 ภูมิภาค และงานตรงนี้สามารถที่จะไปต่อยอดให้กับเด็กๆ ได้"
ด้าน วันทนีย์ นามะสนธิ ผู้แทนบริษัท ซีพีออลล์ ผู้สนับสนุนตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา เล่าถึงเหตุผลที่มาสนับสนุนหลังคิดอยู่ 7 นาทีกับ 11 วินาที (ฮา) ว่า... "เนื่องจากว่าก่อนหน้านั้นได้มีงานเกี่ยวเนื่องกับนักเขียนมาตลอดเป็นระยะๆ หลายโครงการ และมีความชื่นชมและมีความศรัทธาในกิจกรรมของสมาคมนักเขียนฯว่างานที่ทำร่วมกันมาก็เป็นงานคุณภาพ ฉะนั้นความมั่นใจตรงนี้ก็ไม่ต้องคิดนาน ขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องของการตอบโจทย์ของสังคมด้วย ความต้องการของสังคมด้วย เพราะบ่อยครั้งมักจะได้ยินคำถามจากเพื่อนๆ เช่นว่าจะอ่านหนังสืออะไรดี ด้วยเวลาไม่มากนัก ในขณะที่ชีวิตก็เร่งรีบตลอดเวลา ข้อมูลที่สมาคมนักเขียนฯได้จัดทำขึ้นคิดว่าเป็นข้อมูลที่ใช้อ้างอิงได้ เพราะเป็นข้อมูลที่น่าสนใจ"
จากผู้ตอบแบบสำรวจทั่วประเทศมากกว่า 2,000 คน และมีรายชื่อหนังสือมากกว่า 2,077 เรื่อง กว่าจะสกัดออกมาเป็น 101 เล่มได้นั้น ผศ.ดร.สุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชร์ อธิบายว่า...
"ก่อนอื่นขอเรียนให้ทราบว่าแบบสอบถามที่สมาคมฯออกไปเป็นแบบสอบถามที่ค่อนข้างกว้างมาก เพราะฉะนั้นข้อมูลที่ได้มามันจะมาวิเคราะห์จริงจังแบบที่จะให้เป็นการวิเคราะห์ตามหลักสังคมวิทยาหรือสถิติวิทยาหรือสถิติศาสตร์ยาก ฉะนั้นจะเขียนไว้ในเอกสารที่ลงในหนังสือว่าส่วนหนึ่งจะเป็นการวิเคราะห์ตัวเลขเชิงปริมาณ เช่นว่ามีคนตอบเท่าไร ผู้ชายเท่าไร ผู้หญิงเท่าไร ผู้หญิงตอบลักษณะไหน ผู้ชายตอบลักษณะไหน เด็กเท่าไร ผู้ใหญ่เท่าไร อ่านเมื่ออายุเท่าไร ซึ่งมันไม่ใช่ข้อมูลมาตรฐานชนิดที่จะเอามาวิเคราะห์ในเชิงของการวิเคราะห์จริงๆ ไม่ว่าจะเป็นทางวรรณกรรมหรือทางสังคมวิทยาต่างๆ
พูดอย่างนี้เพื่อให้เข้าใจก่อนว่าตัวเลขที่ได้มาเป็นตัวเลขที่มาจากความเป็นจริง และเป็นข้อมูลที่เรียกกันในทางวิเคราะห์ว่าเป็นข้อมูลเชิงคุณภาพ คือได้เห็นความคิดของคนเขียน ได้เห็นน้ำเสียง ได้เห็นความจริงใจหลายๆ อย่างในนั้น ไม่ได้มีเฉพาะว่าอันดับ 1-2-3 เท่านั้น เมื่อเป็นอย่างนั้นทำให้วิเคราะห์ยากมากเลย"
สรุปได้ว่าจากเอกสารแบบสำรวจแจกไปในกิจกรรมต่างๆ 9 ครั้ง และมีส่งไปรษณียบัตรจำนวนหนึ่ง และส่งเป็นจดหมายอิเล็กทรอนิกส์หรืออีเมลจำนวนหนึ่ง จากงานสัมมนาข้างนอกจำนวนหนึ่ง และกรอกจากนิตยสาร 3-4 ฉบับด้วย รวมทั้งหมด 2,131 ฉบับ แบ่งเป็นผู้หญิง 1,445 คน และผู้ชาย 686 คน
"แต่ไม่ได้แปลว่าผู้ชายอ่านหนังสือน้อยกว่าผู้หญิงครึ่งหนึ่งเพราะว่าเวลาอ่านตัวข้อมูลจริงๆ มันมีข้อน่าสนใจข้อหนึ่ง แต่ยังไม่สามารถวิเคราะห์ละเอียดได้เพราะว่าเวลาไม่พอ คือเวลาผู้ชายตอบแบบสอบถามจะตอบเป็นหลักเป็นฐานมากหรือตอบแบบเอาจริงเอาจัง ไม่ว่าจะเป็นเด็กนักเรียนระดับมัธยมหรือนักศึกษาหรืออายุมากกว่านั้น ว่าเล่มนี้เป็นอย่างนี้ๆ แต่ผู้หญิงส่วนมากจะตอบว่ามันโศกเศร้าดี กินใจ ภาษาดี อ่านแล้วได้ความคิดอย่างนี้ ถ้าพูดให้ตรงคือตอบแบบผู้หญิงๆ มันเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกค่อนข้างมาก ฉะนั้นตัวเลขนี้ไม่ได้สื่อว่าใครอ่านมากกว่ากันในสองเพศ
ผู้อ่านที่อายุน้อยกว่า 18 ปี มีจำนวน 700 กว่าคน และ 18-30 ปี จำนวนกว่า 800 คน รวมแล้วผู้อ่านที่อยู่ในวัยเรียนหรือวัยต้นๆ จำนวน 1,616 คน หรือประมาณกว่าครึ่งของจำนวนผู้ตอบ ถัดจากนั้นก็เป็นผู้อ่านอายุ 31 ปีขึ้นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเกิน 45 ปี และมีไม่ระบุอายุประมาณ 30 คน ที่น่าสนใจมากคือถามว่าท่านชอบเล่มนี้แล้วอ่านเมื่ออายุเท่าไร ตอบว่าอ่านตั้งแต่อายุ 3 ขวบ ซึ่งคิดว่าอาจจะจริงเพราะว่า 3 ขวบตอนนี้อ่านการ์ตูนได้แล้ว แต่คนที่ตอบเวลานี้อายุ 11 ปี แล้วตอนนี้ยังชอบเล่มนั้นอยู่ แต่เขาก็มาอ่านเล่มอื่นๆ อีก คืออ่านแบบสอบถามแล้วสนุก เหมือนได้ไปผจญภัยในโลกหนังสืออย่างไรไม่ทราบ" ดร.สุวรรณา กล่าว
พร้อมทั้งนำเสนอต่อว่า "เมื่อได้ภาพรวมหรือเป็นสถิติตัวเลขออกมาเป็น 101 เล่ม เพราะว่าอันดับสุดท้ายของ 101 มันจะมีซ้อนกันอยู่ คือมีตัวเลขที่เท่ากันอยู่ ลองแยกออกมามากที่สุด คือ นวนิยาย 51 เล่ม สารคดี 11 เรื่อง รวมเรื่องสั้น 9 เล่ม วรรณคดีทั้งของไทยและแปลมาจากต่างประเทศ 7 เรื่อง กวีนิพนธ์ 3 เรื่อง การ์ตูนไทย 6 เรื่อง การ์ตูนแปล 6 เรื่อง เรียกว่าสูสีกันเลย แสดงว่าเด็กไทยไม่ได้อ่านแต่การ์ตูนแปลอย่างเดียว นอกจากนี้ยังมีนวนิยายมีออนไลน์อยู่ 2 เรื่อง น่าสนใจอีกเพราะเป็นวรรณกรรมสมัยใหม่ มีเส้นทางน่าสนใจ รวมถึงมีนิตยสารติดเข้ามาด้วย 1 ฉบับ ทั้งๆ ที่ในแบบสอบถามนับเฉพาะหนังสือเล่ม นิตยสารไม่นับ แต่เมื่อมีคนระบุนิตยสารมาก็แสดงว่ามีคนประทับใจอยู่ด้วย คือ 'ขายหัวเราะ'
จากข้อมูลไม่ได้จัดระดับว่านี่เป็นวรรณกรรมระดับสูง นี่เป็นวรรณกรรมคลาสสิก นี่เป็นวรรณกรรมที่มีคุณค่า หรือว่านี่เป็นนิตยสารความรู้หรือว่าไร้สาระ เราอยากรู้ว่าคนไทยในวัยต่างๆ เพศต่างๆ อาชีพต่างๆ อ่านอะไร หนังสือที่เขาอ่านก็มีความหมายกับโลกการอ่านอย่างน้อยก็โลกของเขา อันนี้ต้องเข้าใจ ไม่ได้ต้องการจะบอกว่าอ่านหนังสือดีหรือไม่ดี หรือว่าอะไรที่ติดเข้ามาแล้วจะต้องดี และไม่ได้บอกว่าอะไรที่ติดเข้ามาแล้วเราไม่ชอบ จะไม่ดี อันนี้คือกลุ่มของหนังสือที่อ่านใน 101 เล่ม ถ้านับทั้งหมดมันเยอะเหลือเกิน"
ถ้ามีคนสงสัยหรือตั้งข้อสังเกตว่าจะเป็นการชี้นำหนังสือของผู้อ่านและจะมีผลกระทบต่อหนังสือเล่มอื่นๆ หรือไม่นั้น
"จริงๆ คิดทำเรื่องของการสำรวจหนังสือในดวงใจนี้ คิดว่าเราได้ยินคนในสังคมพูดกันว่าเด็กไม่อ่านหนังสือหรือเด็กอ่านหนังสืออะไรไม่รู้ คือสงสัยหรือว่าหาคำตอบไม่ได้ พอทำแบบสำรวจและได้คำตอบแล้วมันก็สามารถที่จะมองเห็นภาพทั้งหมดได้ เมื่อเห็นภาพทั้งหมดแล้วก็สามารถจะทำกิจกรรมเกี่ยวกับการอ่านการเขียนต่อไปได้ ไม่ได้คิดว่าจะไปทำให้หนังสือที่ไม่ติดอันดับมีปัญหา แต่ทำเพื่อให้เกิดการกระตุ้นการอ่านและทำให้เกิดความเข้าใจเรื่องของการอ่านมากขึ้น ฉะนั้น ถ้าอธิบายชัดเจนว่านี่คือหนังสือในดวงใจของนักเขียนและนักอ่าน ไม่ได้ประกาศชื่อหนังสือดี 101 เล่ม คิดว่ามันไม่น่าจะส่งผลรุนแรง แต่ถือเป็นการแบ่งปันกันอ่านมากกว่า" ชมัยภร กล่าวชี้แจง
ทั้งหมดจะนำมาพิมพ์เป็นหนังสือ '101 เล่มในดวงใจนักเขียนและนักอ่าน' โดยมีบรรณานิทรรศน์หนังสือทุกเล่ม พร้อมปกและพิมพ์เป็นภาพ 4 สี มีรายละเอียดการวิเคราะห์ และข้อมูลสถิติต่างๆ เพื่อตอบคำถามว่าจริงๆ แล้วคนไทยอ่านอะไร 0
///////////////////////////
101 เล่มในดวงใจนักเขียนและนักอ่าน
ชื่อหนังสือ+ผู้เขียน
1.แฮร์รี่ พอตเตอร์+เจ.เค. โรว์ลิ่ง
2.ความสุขของกะทิ+งามพรรณ เวชชาชีวะ
3.ลูกอีสาน+คำพูน บุญทวี
4.ข้างหลังภาพ+ศรีบูรพา
5.สี่แผ่นดิน+ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
6.เพชรพระอุมา+พนมเทียน
7.เจ้าชายน้อย+อองตวน เดอ แซง-เตกซูเปรี
8.คำพิพากษา+ชาติ กอบจิตติ
9.คู่กรรม+ทมยันตี
10.หัวขโมยแห่งบารามอส+แรบบิท
11.โดเรมอน+ฟูจิโกะ เอฟ ฟูจิโอะ
12.สามก๊ก
13.อยู่กับก๋ง+หยก บูรพา
14.หลายชีวิต+ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
15.พระอภัยมณี+สุนทรภู่
16.น้ำพุ+สุวรรณี สุคนธา
17.ก่อกองทราย+ไพฑูรย์ ธัญญา
18.เข็มทิศชีวิต+ฐิตินาถ ณ พัทลุง
19.ลับแล, แก่งคอย+อุทิศ เหมะมูล
20.โคนัน ยอดนักสืบ+โกโช อาโอยาม่า
21.บ้านเล็กในป่าใหญ่+ลอร่า อิงกัลล์ส ไวล์เดอร์
22.แมงมุมเพื่อนรัก+อี.บี.ไวท์
23.เจ้าหงิญ+บินหลา สันกาลาคีรี
24.ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน+วินทร์ เลียววาริณ
25.แก้วจอมแก่น+แว่นแก้ว
26.ใบไม้ที่หายไป+จิระนันท์ พิตรปรีชา
27.ผู้ชนะสิบทิศ+ยาขอบ
28.ฟ้าจรดทราย+โสภาค สุวรรณ
29.พระมหาชนก+พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
30.สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน+วินทร์ เลียววาริณ
31.อัจฉริยะสร้างได้+หนูดี
32.เราหลงลืมอะไรบางอย่าง+วัชระ สัจจะสารสิน
33.One Piece+เออิจิโระ โอดะ
34.ต้นส้มแสนรัก+โจเช่ วาสคอนเซลอส
35.ทวิภพ+ทมยันตี
36.ปุลากง+โสภาค สุวรรณ
37.ขายหัวเราะ+สำนักพิมพ์บรรลือสาส์น
38.ตลิ่งสูงซุงหนัก+นิคม รายวา
39.นารุโตะ+มาซาชิ คิชิโมโตะ
40.Shockolate+เดอะดวง
41.เชอร์ล็อกโฮล์มส์+เซอร์ อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์
42.หนูหิ่นอินเตอร์+เอ๊าะ ขายหัวเราะ
43.อมตะ+วิมล ไทรนิ่มนวล
44.ความน่าจะเป็น+ปราบดา หยุ่น
45.พันธุ์หมาบ้า+ชาติ กอบจิตติ
46.แวววัน+โบตั๋น
47.The White Road+Dr.Pop
48.ชินจังจอมแก่น+โยชิโอะ อุสึอิ
49.โต๊ะโตะจัง+เท็ตสึโกะ
50.พล นิกร กิมหงวน+ป.อินทรปาลิต
51.เวลาในขวดแก้ว+ประภัสสร เสวิกุล
52.เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก+ทิพย์วาณี สนิทวงศ์ ณ อยุธยา
53.รามเกียรติ์
54.นิทานอีสป+อีสป
55.ผู้ดี+ดอกไม้สด
56.ฟ้าบ่กัน+ลาว คำหอม
57.รหัสลับดาวินาชี+แดน บราวน์
58.Twilight+สเตเฟนี เมเยอร์
59.ดั่งดวงหฤทัย+ลักษณวดี
60.บาปบุญคุณธรรม+ศักดา วิมลจันทร์
61.มือนั้นสีขาว+ศักดิ์สิริ มีสมสืบ
62.กามนิต วาสิฏฐี+เสฐียรโกเศศ นาคะประทีป
63.ขุนช้างขุนแผน
64.เจ้าจันทร์ผมหอม นิราศพระธาตุอินทร์แขวน+มาลา คำจันทร์
65.เซวิน่า มหานครแห่งมนตรา+กัลฐิดา
66.ถั่วงอกกับหัวไฟ+ทรงศีล ทิวสมบุญ
67.เทวากับซาตาน+แดน บราวน์
68.ผู้ใหญ่ลีกับนางมา+กาญจนา นาคนันทน์
69.เวลา+ชาติ กอบจิตติ
70.คู่มือมนุษย์+พุทธทาสภิกขุ
71.จดหมายจากเมืองไทย+โบตั๋น
72.บันทึกจากลูก(ผู้)ชาย+ชมัยภร แสงกระจ่าง
73.ปีศาจ+เสนีย์ เสาวพงศ์
74.เพื่อนนอน+ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
75.ละครแห่งชีวิต+หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง ระพีพัฒน์
76.ไล่ตงจิ้น ลูกขอทานไม่ยอมแพ้ชีวิต+ไล่ตงจิ้น
77.สมุดปกดำกับใบไม้สีแดง+วินทร์ เลียววาริณ
78.สร้อยทอง+นิมิตร ภูมิถาวร
79.5 สหายผจญภัย+Enit Blyton
80.ขวัญสงฆ์+ชมัยภร แสงกระจ่าง
81.ช่างสำราญ+เดือนวาด พิมวนา
82.ปริศนา+ว. ณ ประมวญมารค
83.ผมจะเป็นคนดี+วิกรม กรมดิษฐ์
84.มังกรหยก+กิมย้ง
85.มาเฟียที่รัก+หนูผักบุ้ง
86.แม่สอนไว้+พุทธทาสภิกขุ
87.ล่องไพร+น้อย อินทนนท์
88.Black & White : เพราะชีวิตจริงมีทั้งขาวและดำ+เดอะดวง
89.H.A.C.K.+Enigma
90.Nine Lives+ทรงศีล ทิวสมบุญ
91.The Top Secret+ทันตแพทย์สม สุจิรา
92.จดหมายถึงดวงดาว+ชมัยภร แสงกระจ่าง
93.จนตรอก+ชาติ กอบจิตติ
94.ซอยเดียวกัน+วาณิช จรุงกิจอนันต์
95.เดินสู่อิสรภาพ+ประมวล เพ็งจันทร์
96.ธรรมะเดลิเวอร์ลี่+พระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต
97.ไผ่แดง+ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
98.มัทนะพาธา+พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
99.ม้าก้านกล้วย+ไพวรินทร์ ขาวงาม
100.อยากให้เรื่องนี้ไม่มีโชคร้าย+เลโมนี สนิคเก็ต
101.ไอน์สไตน์พบพระพุทธเจ้าเห็น+ทันตแพทย์สม สุจิรา
ที่มา : สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย