คณะกรรมการวรรณคดีแห่งชาติยกย่อง “ไตรภูมิกถา”
เป็นยอดวรรณคดีสมัยสุโขทัย
วันศุกร์ ที่ 24 ก.ย. 2553
ภาพจากสำนักข่าวไทย
กระทรวงวัฒนธรรม 24 ก.ย.-ศ.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ กรรมการวรรณคดีแห่งชาติ กล่าวว่า คณะกรรมการวรรณคดีแห่งชาติ ซึ่งตั้งขึ้นตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2553 มีคุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ เป็นประธาน ได้มีการพิจารณาคัดสรรวรรณกรรมที่แต่งในสมัยสุโขทัยที่มีคุณค่าทางด้านเนื้อหาและมีความงดงามเชิงวรรณศิลป์ จำนวน 5 เรื่อง
ได้แก่ จารึกหลักที่ 1 ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง,
จารึกหลักที่ 2 ศิลาจารึกวัดศรีชุม,
จารึกหลักที่ 3 ศิลาจารึกนครชุม,
สุภาษิตพระร่วง และไตรภูมิกถา หรือไตรภูมิพระร่วง
และมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า วรรณคดีเรื่อง “ไตรภูมิกถา” ซึ่งพระมหาธรรมราชาที่ 1 หรือพญาลิไท กษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัยพระราชนิพนธ์นั้น เป็นหนังสือแต่งดี มีคุณสมบัติครบถ้วนแห่งการเป็นวรรณคดี กล่าวคือเป็นวรรณคดีที่มีคุณค่าพร้อมทั้งด้านศาสนา ด้านสังคม ด้านศิลปกรรม และด้านวรรณศิลป์ เป็นหนังสือซึ่งให้ความรู้ทางอักษรศาสตร์ จารีตประเพณี วัฒนธรรม และศาสนา ซึ่งเป็นรากฐานความคิด ความเชื่อในสังคมไทยโบราณและสืบทอดมาจวบจนปัจจุบัน จึงสมควรยกย่องให้เป็นยอดของวรรณคดีสมัยสุโขทัย

ทั้งนี้ ไตรภูมิกถา พระมหาธรรมราชาที่ 1 (พญาลิไท) พระราชนิพนธ์ขึ้นราวปี พ.ศ.1888 ลักษณะคำประพันธ์เป็นความเรียงร้อยแก้ว ประเภทศาสนาและปรัชญา เริ่มเรื่องด้วยคาถานมัสการเป็นภาษาบาลี เนื้อเรื่องกล่าวถึงภูมิทั้งสาม ได้แก่ กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ โดยมีจุดประสงค์เพื่อโปรดพระราชมารดา สั่งสอนประชาชนให้รู้จักบาปบุญคุณโทษ ยึดมั่นในหลักธรรมพุทธศาสนา รวมทั้งให้มุ่งไปสู่ดินแดงแห่งพระนิพพาน.-สำนักข่าวไทย
ศ.รื่นฤทัย กล่าวว่า การที่คณะกรรมการได้ประกาศยกย่องวรรณคดี เรื่อง ไตรภูมิกถา ให้เป็นยอดวรรณคดี เพราะเห็นว่า เป็นหนังสือแต่งดี มีคุณค่าที่สะท้อนให้เห็นถึงพลังทางปัญญาของการสร้างสรรค์ มีคุณสมบัติครบถ้วนทั้ง ในเชิงวรรณคดีไทย ที่มีคุณค่าพร้อมทั้งด้านศาสนา ด้านสังคม ด้านศิลปกรรม โดยสอนเรื่องพุทธศาสนาเรื่องแรกที่คงเหลือหลักฐานมาจนถึงปัจจุบัน มีคำประพันธ์ประเภทความเรียงร้อยแก้ว สะท้อนวรรณคดีไทยในระยะแรกเริ่ม สำนวนภาษาที่ปรากฏมีศัพท์ทางศาสนา และศัพท์ภาษาโบราณอยู่มาก ซึ่งสามารถนำมาเป็นตัวอย่างเพื่อการศึกษา ในการใช้ภาษาในสมัยกรุงสุโขทัยได้ นอกจากนี้ยังมีความสำคัญในเชิงวรรณศิลป์ เนื่องจากหนังสือที่ให้ความรู้ทางด้านอักษรศาสตร์ จารีตประเพณี และถือว่ามีความโดดเด่นในด้านการใช้ภาพพจน์อุปมา ซึ่งทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจ ให้อารมณ์ และเห็นภาพชัดเจน

ศ.ประเสริฐ ณ นคร ประธานกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย กล่าวว่า ปัจจุบันเด็กไทยไม่ค่อยได้เรียนรู้ ในเรื่องวรรณคดี ดูจาก ดนตรี หรือ เพลงในสมัยนี้ ที่ไม่มีคำคล้องจอง และสัมผัส ทำนองเลย หรือ พูดได้ว่าคำคล้องจอง ได้หมดไปแล้ว ซึ่งปัญหาดังกล่าวเกิดจากการที่เราไม่ได้ฝึกฝนให้เด็กเรียนรู้เพลงที่มีเนื้อหาสัมผัส ตั้งแต่เล็กๆ เมื่อโตขึ้นมา ก็ถูกผู้ผลิตทางสื่อวิทยุโทรทัศน์ พยามยามยัดเยียดครอบงำ ให้เด็กเสพสื่อโดยการโฆษณา จนทำให้ได้ยินจนชินหู และเกิดความชอบ และนิยมเพลงที่ไม่มีเนื้อเพลง และทำนองสัมผัสกัน ดังนั้นเป็นเรื่องที่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน
อ้างอิง http://www.bangkokbiznews.com/
วธ.ประกาศ'ไตรภูมิพระร่วง'สุดยอดวรรณคดีสุโขทัย โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๕๓
ศ.ชวน เพชรแก้ว เมธีวิจัยอาวุโส มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ในฐานะกรรมการวรรณคดีแห่งชาติ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ในที่ประชุมคณะกรรมการวรรณคดีแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2553 คณะกรรมการได้พิจารณาแนวทางการดำเนินงาน 2 ด้าน คือการประกาศยกย่องวรรณคดี และการพิจารณาวินิจฉัยข้อมูลทางวรรณคดี ทั้งได้วางเป้าหมายการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2553 ไว้ 4 ประการ ได้แก่
1.จัดการประชุมคณะกรรมการวรรณคดีแห่งชาติ ปีละ 5 ครั้ง
2.จัดทำต้นฉบับประวัติวรรณคดีไทยสมัยสุโขทัยให้เสร็จสมบูรณ์
3.ออกแบบและจัดทำตราสัญลักษณ์หนังสือวรรณคดีแห่งชาติ และ
4.ประกาศยกย่องหนังสือที่แต่งดีทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองให้เป็นวรรณคดีแห่งชาติ
"วรรณคดีไทยเป็นทั้งภูมิปัญญาและเป็นทั้งมรดกวัฒนธรรมทางภาษาที่สำคัญยิ่ง เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความเจริญรุ่งเรืองของชาติ การส่งเสริมและการสร้างสรรค์หนังสือที่ดีมีคุณภาพออกเผยแพร่สู่สาธารณชนจึงเป็นมาตรวัดความเจริญทางอารยธรรมอย่างหนึ่ง อีกทั้งยังสามารถต่อยอดสู่การศึกษา วิเคราะห์ วิจัยวรรณคดีของชาติเพื่อนำผลจากการศึกษามาประกอบการพัฒนาประเทศให้ดำเนินไปในทิศทางที่เหมาะสมได้ด้วย" ศ.ชวน กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การแต่งตั้งคณะกรรมการวรรณคดีแห่งชาติ เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เพื่อส่งเสริมการศึกษา ค้นคว้า สืบค้น รวบรวมและพิจารณาวินิจฉัยข้อมูลเกี่ยวกับวรรณคดีไทย รวมทั้งจัดทำหนังสือประวัติวรรณคดีไทยที่เป็นมาตรฐาน ประกาศยกย่องหนังสือดีให้เป็นวรรณคดีของชาติและเผยแพร่อย่างกว้างขวาง โดยคณะบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งมีจำนวน 15 คน เป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านวรรณคดีและอักษรศาสตร์

ศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติม
๑. วิกิพีเดีย
๒. เว็บไซด์สุโขทัย
๓. จากหอมรดกไทย
๔ จากคลังปัญญาไทย
๕.