#สารคดีต้นกำเนิดแม่น้ำชี
ต้นกำเนิดลำน้ำชี ชัยภูมิเมืองแห่งขุนเขา
ชัยภูมิ เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน มีพื้นที่กว้างเป็นอันดับ ๙ ของประเทศ อันดับที่ ๔ ของภาคอีสาน เป็นจังหวัดที่มีภูเขามากที่สุดและสูงที่สุดในภาคอีสานที่สำคัญคือ เป็นแหล่งต้นกำเนิดแม่น้ำสายเลือดหลักของภาคอีสาน คือ แม่น้ำชี
ค้นคว้า อ้างอิงเพิ่มเติม
อ่านข้อมูลอิเล็คทรอนิกส์
วิกิพีเดีย
แม่น้ำชี เป็นแม่น้ำสายที่ยาวที่สุดของประเทศไทย คือ ยาวถึง ๗๖๕ กิโลเมตร เป็นแม่น้ำที่มีลักษณะการเกิดที่แปลกที่สุดสายหนึ่งของโลก รวมทั้งแหล่งทำให้เกิดน้ำตกเป็นร้อยๆชั้น คาดว่าน้ำตกที่สูงที่สุดของประเทศอยู่ที่ต้นน้ำชี้นี้เอง มีอิทธิพลต่อความเป็นอยู่ของชาวอีสานถึง ๙ จังหวัด ที่ไหลผ่าน ได้แก่ ชัยภูมิ นครราชสีมา ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ปัจจุบันทุกท่านคงเข้าใจถึงความทุกข์ยากของพี่น้องชาวอีสานต้องตรากตรำ ลำบาก ยากจน อดทน ดิ้นรนหางานทำทั่วประเทศ (แต่ไม่รวมตัวเดินขบวนเรียกร้องอะไรจากรัฐบาล) เพื่อการดำรงชีวิต ยิ่ง ๑๐ ปีที่ผ่านมาชาวอีสานยิ่งแย่เพราะแม่น้ำชีลดปริมาณลงมาก ได้ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของพี่น้องเรา ทางรัฐบาลจึงได้เสนอโครงการพัฒนาอีสานเขียว ซึ่งเป็นที่ทราบโดยทั่วไปแล้ว แต่ผู้เขียนคิดว่าโครงการนี้จะสำเร็จหรืออีสานจะเขียวหรือไม่ แม่น้ำชีก็เป็นส่วนสำคัญต่อการพัฒนาอย่างยิ่ง เราจึงหันมาศึกษาให้รู้จริงถึงลักษณะการเกิด และสภาพข้อมูลทั่วไปของแม่น้ำชีว่าเป็นอย่างไร
แม่น้ำชี เกิดจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ บริเวณภูเขียวซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดชัยภูมิพื้นที่ภูเขาด้านทิศตะวันตกของทุ่งกะมัง และด้านทิศตะวันตกไปจนถึงด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของบ้านโหล่น อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ อันประกอบด้วยป่าเขา ลำเนาไพรยากแก่การเข้าไปถึงได้ มีลำห้วยหลักอยู่ ๔ สาย คือ เพียว
ยอดชี โก่ย (ไขว่) และ ห้วยน้ำอุ่น จะขอกล่าวเป็นสายดังนี้
ห้วยเพียว เริ่มจากเขาสันปันน้ำ ซึ่งมีความสูงถึง ๑,๓๓๖ เมตร เป็นสันเขาแบ่งเขตจังหวัดชัยภูมิกับจังหวัดเพชรบูรณ์ บริเวณยอดเขาลูกนี้มีไม้ไผ่ไพรวานหนาทึบเป็นดงดิบ อุดมไปด้วยทากทุกฤดูกาล น้ำจะซึมซับออกมาจากยอดเขาซีกตะวันออก ก่อให้เกิดเป็นต้นน้ำไหลซึมวับมาจากหลายๆ จุดรวมกัน เริ่มต้นเท่ากับท่อน้ำประปาขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๓/๔ นิ้ว ซึ่งคณะสำรวจสามารถเขาไปสัมผัสได้ แล้วมารวมกับจุดอื่นๆ เริ่มเป็นลำธารเล็กๆ ไหลลดระดับรวมกับน้ำซับอื่นๆ
จากเขาปันน้ำแล้วต่อมาถึงเขายอดชี ไหลลดระดับมาทางทิศตะวันออกวกไปเวียนมา ปริมารน้ำเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อไหลมาอยู่ระหว่างกลางเขายอดชีและเขาอุ้มบาง ทั้งสองยอดเขาก่อให้เกิดน้ำตกมากมาย ที่มีขนาดความสูงตั้งแต่ ๑ เมตร จนถึง ๑๒ เมตร บริเวณที่มีน้ำตกนี้จะมีปลาชุกชุมมาก เป็นปลาจาด (ลักษณะคล้ายปลาขาวอีตู้หรือปลาสร้อย) ลำตัวขนาดใหญ่ ความยาวประมาณ ๑ ฟุต พบร่องรอยของสัตว์ป่ามาก โดยเฉพาะเจ้าป่า คือ เสือโคร่ง พบรอยเท้าบางตัวมีขนาดเท่ากับจานข้าว เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑๐ นิ้ว อยู่ตามลำน้ำ คาดว่าเป็นเสือขนาดใหญ่อาจจะล่าสัตว์อื่นเป็นอาหารลำบาก จึงลงตามลำน้ำเพื่อหาปลาเป็นอาหาร บางแห่งก็พบรอยเท้าของสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ เช่น ช้าง กวาง เก้ง และหมูป่า ส่วนไก่ป่า ลิง ค่าง ชะนี ชุกชุมพอสมควร คณะสำรวจต้องเดินอย่างระแวดระวังทุกระยะ อีกทั้งเสียงน้ำตกก็ดังซ่าๆ จนคณะสำรวจต้องตะโกนคุยกัน มองดูน้ำตกแต่ละแห่งดุแปลกแตกต่างกันไป บางแห่งสูงถึง ๑๐ เมตร แตกแยกเป็น ๓ ทาง ๒ ทางบ้าง บางแห่งก็สูงชะลูดเหมือนกับท่อระบายน้ำพุ่งลงมา บางแห่งไหลตกลงมาเหมือนงวงช้าง ถึงน้ำตกจะสวยงามอย่างไร คณะสำรวจก็เพลิดเพลินไม่ได้ เพราะเจอรอยเท้าเจ้าป่าและสัตว์ดุร้ายทุกระยะ มิได้ขาด ประกอบกับน้ำสายนี้มีตะไคร่น้ำมากทำให้ลื่นต้องระวังการหกล้มอีกประการหนึ่ง
เมื่อสายน้ำไหลลดระดับลงเรื่อยๆ ใกล้จะถึงจุดรวมกับสายใหญ่จะไม่มีน้ำตกเลย ทำให้เกิดที่ราบริมฝั่งน้ำ อุดมไปด้วยไม้ป่าที่แปลก เช่นไผ่ต่างๆ อาทิ ไผ่ตง ไผ่ซาง ไผ่รวก ไผ่เหี้ย ต้นตาว รวมทั้งหวายพันธุ์ต่างๆ ที่น่าสนใจมากก็คือ ป่ากล้วยหก ลักษณะเป็นป่า กระจายอยู่เป็นหย่อมหลายแห่งๆ ละ ๑ ไร่บ้าง ๒ ไร่บ้าง กล้วยหกมีขนาดลำต้นใหญ่สูงประมาณ ๑๐ เมตร ขนาดของปลีใหญ่รับประทานได้ เป็นผักที่มีรสชาติดี (แซบ) ส่วนผลมีลักษณะคล้ายกล้วยหักมุข รับประทานได้แต่ไม่อร่อย อาจจะมี ๖ หวีๆ ละ ๖ ลูก คนจึงเรียกว่า กล้วยหก นอกจากนี้บริเวณลำห้วยนี้ยังมีมะเดื่อ ซึ่งมีลูกตั้งแต่โคนต้นจนกระทั่งถึงยอด บางต้นมีลูกขนาดใหญ่มากขนาดเท่ากับผลของมะพร้าวน้ำหอม หาดุได้ง่ายที่บริเวณห้วยเพียว ลำเพียวจะไม่ไหลเข้าถ้ำ มีแต่น้ำตกและมีความยาวประมาณ ๒๕ กิโลเมตร ไหลมารวมกันกับสายอื่นที่ปากเพียวเป็นแม่น้ำชี
ห้วยยอดชี ลำห้วยนี้อยู่เหนือห้วยเพียวขึ้นไป เกิดจากเขาสันปันน้ำด้านเหนือเพียว ลักษณะการเกิดเช่นเดียวกับเพียว คือ ซึมซับมาจากป่าดงดิบไผ่ไพรวานกับไม้แปก (ไม้สน) ส่วนหนึ่งเกิดจากเขาเสลียงตาถาด ซึ่งสูง ๑,๒๔๒ เมตร จากระดับน้ำทะเล ซึมซับไหลมาทางทิศตะวันออก พอเข้าสู่เขาอุ้มนางซึ่งต่างระดับกันก็เริ่มมีน้ำตกตั้งแต่ระดับ ๑ เมตร ไปถึง ๑๐ เมตร ซึ่งภูเขาสูงของเขาอุ้มนางทั้งด้านเหนือและใต้ ไหลรวมกันวกไปเวียนมามุ่งสู่ทิศตะวันออก มีน้ำตกไม่มากมายเช่นเพียว แต่บริเวณต้นน้ำมีปลาชุกชุมไม่แพ้เพียว ละมีสัตว์ป่าชุกชุมมากกว่าเพียวโดยเฉพาะช้าง กระทิง เมย กวาง เก้ง ส่วนเจ้าป่านั้นจะชุกชุมเช่นกัน แต่ดูจากร่องรอยการต่อสู้ของสัตว์ป่าอยู่ทั่วไป บางแห่งจะได้ยินเสียงร้องครวญครางของเจ้าป่า น้ำบางแห่งจะมีเลือดไหลเจือปนให้เห็นอยู่บริเวณต้นยอดชีเป็นระยะๆ น้ำตกเมื่อดูที่เพียวแล้วมาดูที่ยอดชี ดูไม่สะดุดตา ถึงแม้จะสูงแต่ไม่เด่น ที่แปลกของยอดชีก็คือมีร่องน้ำ ริมฝั่งมีลักษณะหักเหเป็นมุมฉากระหว่างร่องน้ำกับฝั่ง ทำให้การเดินและปีนป่ายลำบากมาก อีกทั้งต้องคอยระแวดระวังสัตว์ป่าที่ดุร้ายด้วย ตามธรรมชาติไม่ว่าคนหรือสัตว์ ถ้าตัวใหญ่หรือแก่ย่อมมีความเชื่องช้าสุภาพแต่ถ้าเป็นวัยหนุ่มย่อมมีความคึกคะนอง ซุกซน ฉะนั้นคณะสำรวจจึงต้องระวังตัวเป็นพิเศษบางคืนเสือโคร่งก็เข้าถึงที่พักแล้วเดินวนเวียนอยู่รอบๆ ที่พัก บางคืนก็เดินลอดใต้เปลนอนก็เคย สังเกตได้จากรอยเท้า บางครั้งคนในคณะตื่นขึ้นมาพบเข้า เจ้าป่าก็ตื่นตกใจวิ่งหนีอุตลุดเช่นกัน ไม่ว่าสัตว์ป่าดุร้ายหรือสัตว์ขนาดใหญ่ทุกชนิดกลัวคนทั้งนั้น แต่นี่เป็นเสือหนุ่มเลยลองของบ่อยๆ แต่คณะก็ชินเสียแล้ว บริเวณริมฝั่งห้วยอดชีเราพบโป่งขนาดใหญ่ ดูน่าพิศวงมาก กลางป่าดงดิบไม่มีหญ้าหรือต้นไม้ขึ้นเลย มีพื้นที่กว้างประมาณ ๑๐ ตารางวา ดินโป่งสูงประมาณ ๒.๐๐ เมตร กว้าง ๔-๕ เมตร มีน้ำซึมซับไหลหยดตลอดเวลา ตัวผึ้งเป็นล้านๆ ตัวบินวนเวียนหาน้ำหวานหรืออาหาร
บริเวณนี้จะมีกระทิง เมย กวาง เก้ง เลียงผาเต็มไปหมด คณะเราผ่านไปสามารถมองเห็นไวๆ มีรอยเท้าเต็มไปหมด เหมือนคอกสัตว์ทั่วไป นอกจากนี้ยังมีไม้ประเภทสน ๒ ใบ ๓ ใบอยู่ทั่วไป (ชาวบ้านเรียกไม้แปก) นอกจากนี้คณะสามารถจับปลาด้วยมือเปล่าปริมาณ ๑ กระสอบภายในเวลา ๑ ชั่วโมง มีขนาดตั้งแต่เล็ก ถึง ๑ ฟุต บริเวณยอดชีนี้จะมีไม้พิเศษอยู่อย่างหนึ่ง คือ มะนาวสี รสชาติเหมือนมะนาวทั่วไปแต่ผลมีลักษณะยาวรีผิวไม่เรียบ มีขนาดใหญ่วัดโดยรอบและยาวได้ ๒๕-๓๐ ซม. เปลือกหนา ในฤดูแล้งอาจจะถูกไฟป่าหรือช้างป่าทำลายทราบว่าช้างป่าชอบมะนาวมากโดยเฉพาะผลแก่ ตามลำน้ำลงมามีมูลช้างเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ จากเขาอุ้มนางทั้ง ๒ ด้าน ก่อให้เกิดตรอกเพิ่มปริมาณน้ำขึ้นเรื่อยๆ
ลำนำสายนี้ยาวประมาณ ๒๐ กิโลเมตร เมื่อไหลมาถึงเขาครอบปริมาณน้ำในลำห้วยจะเท่ากับลำน้ำเพียวแล้วไหลมุดเข้าถ้ำ ปากถ้ำมีหินแผ่นใหญ่ยื่นออกมามีลักษณะคล้ายพระจันทร์ครึ่งซีกยาวประมาณ ๑๐-๑๕ เมตร เป็นหินแกรนิตมีลวดลายคล้ายชุดพรางของทหาร น้ำไหลเป็นเกลียวเข้าไปในภูเขา เป็นรูขนาด ๘๐ เซนติเมตร นี่แหละที่ก่อให้เกิดคำว่า “ซี” (ชี เป็นภาษาอีสาน แปลว่าเจาะไขทำให้ทะลุ) นอกจากนี้ยังมีรูอยู่รอบทั่วไป ถ้าน้ำมากคงจะไหลเข้ารูอื่นๆ ที่อยู่รอบๆ ถ้าน้ำมากในช่วงเกิดพายุดีเปรสชั่น หรือฝนชุกน้ำไม่สามารถไหลเข้าภูเขาได้หมด ก็จะมีทางระบายอยู่ทางทิศตะวันออกเรียนกว่า “ชีแล้ง” คือในฤดูน้ำแล้งไม่มีน้ำ มีเฉพาะฤดูฝนหรือช่วงฝนตกชุก เป็นร่องน้ำลึกไหลไปทางทิศตะวันออกต่อไปลงห้วยลึกอีกสายหนึ่งเป็นอันสิ้นสุดห้วยยอดชี เมื่อน้ำไหลเข้าภูเขาจะเรียกว่า “ชีดั้น” ชีดั้นที่ห้วยยอดชีนี้จะไหลลอดภูเขาไปผุดอีกจุดหนึ่ง อยู่ห่างจากจุดไหลเข้าประมาณ ๘ กิโลเมตร น้ำที่ผุดลอกจากภูเขานี้เรียกว่า “ชีผุด”
ลำโก่ย (ไขว่) คำว่าโก่ยนี้เป็นภาษาอีสาน เป็นชื่อของพันธุ์ไม้เถา ก็คือองุ่นป่านั่นเอง แต่เขียนเป็นฝรั่งออกเสียงเป็นภาษาไทย ชื่อโก่ย จึงเพี้ยนเป็นไขว่ ลำห้วยโก่ย เริ่มจากเขาแปปันน้ำและเขาเสลียงตาถาด มีความสูง ๑,๓๑๑ เมตร และ ๑,๒๓๑ เมตร ตามลำดับ ในบริเวณนี้เป็นป่าไม้แปก (ไม้สน) และป่าไม้ไผ่ไหรวานหนาทึบเป็นดงดิบ ก่อให้เกิดน้ำซับแล้วไหลซึมมารวมกัน ก่อให้เกิดลำน้ำเช่นเดียวกับเพียวและยอดชี บริเวณยอดเขาแปปันน้ำนี้บางแห่งถูกไฟป่าและชาวบ้านบุกรุกที่ไปทำไร่เลื่อนลอย มีร่องรอยให้เห็นอยู่
ส่วนบริเวณเขาเสลียงตาถาดนั้น ป่ายังอุดมสมบูรณ์อยู่มาก มีสัตว์ป่าซุกซนกว่าส่วนอื่น เข้าใจว่าชาวบ้านหรือพรานป่าคงเข้าไปล่าไม่ถึง อีกประการหนึ่งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวก็อยู่เหนือลำน้ำพรมขึ้นไปเล็กน้อย ก็พอป้องปรามได้บ้าง การล่าสัตว์จึงมีน้อยกว่าบริเวณอื่น แต่ก็มีพรานระดับพระกาฬ คือพรานล่าช้าง ก็เข้าไปถึงโดยไม่เลือกฤดูกาล แต่พรานพวกนี้ก็จะไม่สนใจ เก้ง กวาง สัตว์ป่าจึงชุกชุมกว่าทุกจุล ปริมาณน้ำห่วยโก่ยนี้จึงน้อยกว่ายอดชีนิดหน่อย แต่เนื่องจากน้ำไหลลดระดับลงเรื่อยๆ ทำให้มีน้ำตกมากเช่นกัน น้ำตกมีทั้งที่สูงและต่ำต่างระดับกันมาก ทำให้มองดูสวยงามน่าชม เป็นที่น่าพิศวงมาก น้ำตกจุดหนึ่งสูงประมาณ ๒๐ เมตร มองผิวเผินอาจเห็นว่าเป็นน้ำตก ๗ ชั้น แต่ความจริงแล้วมีแค่ ๓ ชั้น แต่ชั้นบนสุดสูงเด่น สวยงามหาที่เปรียบได้ยาก ชาวคณะสำรวจฯ จึงตั้งชื่อว่า น้ำตกพญาแล น้ำตกนี้ถ้าใครได้ไปพบเห็นและได้หยุดพักผ่อนแล้วจะรู้สึกสดชื่นแทบไม่อยากจากมาเลย
ชาวคณะสำรวจได้ลงอาบน้ำและปีนป่ายขึ้นไปในระดับความสูงประมาณ ๖ เมตร ได้พบกุ้งขนาดใหญ่ขนาดของลำตัวเท่ากับขนาดของปากกาลูกลื่น มีอยู่ตามบริเวณซอกหินที่เปียกโดยทั่วไปในบริเวณน้ำตกนี้ รอบๆ ฝั่งลำน้ำนั้นมีทากชุกชุมมาก มีทุกขนาดยั้วเยี้ยไปหมด แต่คณะสำรวจฯ ก็ได้สมุนไพรกันทากโดยบังเอิญในบริเวณน้ำตกพญาแล จึงสามารถหยุดพักกันได้นานหน่อย ลำโก่ยต่อจากน้ำตกพญาแลไหลวนรอบภูเขาไปทางทิศตะวันออก ประมาณ ๔-๕ กิโลเมตร ตรงไปยังยอดเขาสูง มองในระยะไกลมีลักษณะเหมือนหัวพญานาค น้ำไหลลอดเข้าภูเขาตรงยอดเขาสูงดังกล่าว ตรงจุดที่น้ำไหลเข้าปากถ้ำ มองดูเหมือนปากงูกำลังอ้ากว้างมาก ตรงกลางมีก้อนหินสีขาว ๑ เมตร เมื่อน้ำไหลกระทบเหมือนกับลิ้นงูตระหวัดไปมา ปากถ้ำทั้งสองข้างมีต้นกระดุมทองห้อยย้อยลงมาเหมือนปากงูย่น สลับกับก้อนหินสีน้ำตาลปนดำซึ่งถูกกัดเซาะเป็นหลุมๆ ติดต่อกันไปตลอดแต่ละหลุมมีขนาดเท่ากับเปลือกไข่ผ่าซีก มองดูคล้ายเกล็ดงู ตรงกลางสามารถเข้าไปได้ลึกประมาณ ๑๐ เมตร เหมือนลำคองู และมีหินโผล่เหมือนเขี้ยวงูเป็นซี่ๆ ชาวบ้านเรียกว่าถ้ำงูเห่า ชาวคณะสำรวจฯ ได้ตั้งชื่อใหม่ว่า “ถ้ำวังพญา” ทราบว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่ ชาวบ้านเอาชีวิตมาทิ้งที่บริเวณนี้หลายราย ส่วนใหญ่ใครเข้าไปในถ้ำแล้วหาชีวิตรอดยาก แต่ชาวคณะสำรวจฯ ก็ปลอดภัยกันทุกคนจุดนี้เป็นอันว่าสิ้นสุดลำโก่ย ซึ่งมีความยาวทั้งสิ้น ๑๕ กิโลเมตร น้ำที่ไหลเข้าถ้ำตรงจุดนี้ไปโผล่ที่ผุด ๒ เช่นเดียวกับห้วยยอดชี ซึ่งอยู่ห่างจากจุดไหลเข้าถึง ๑๖ กิโลเมตร จึงถือว่าเป็นแม่น้ำที่แปลกและมหัศจรรย์สายหนึ่งของโลก
จากผุด ๒ ซึ่งเป็นจุดที่น้ำไหลออกจากภูเขาสูง น้ำผุดออกมาแรงมากเพราะเกิดจากลำน้ำสองสาย คือ โก่ยและยอดชีรวมกัน ไหลทะลักออกมาจากรูของขุนเขา ในฤดูแล้งจะเห็นชัดเจน แต่ฤดูฝนน้ำมากจึงมองเห็นไม่เด่นชัดนัก กระแสน้ำแรงมากขนาดคนเราไปยืนตรงปากอาจจะทานไม่ไหว น้ำไหลผ่านซอกหินเป็นลำธารประมาณ ๑ กิโลเมตร ก็จะไหลเข้าภูเขาซึ่งเป็นหน้าผาสูงประมาณ ๒๐ เมตร มุดเข้าภูเขาตรงที่น้ำไหลเข้าภูเขาจุดนี้ เรียกว่า ชีดั้น ๑ ห่วยเข้าไปในภูเขาสูงอีกประมาณ ๓-๔ กิโลเมตร ไปโผล่อีกที่หนึ่งเรียกว่า ผุด ๑ เสียงน้ำผุดกระทบก้อนหินและใบไม้เสียงดังสนั่นไม่แพ้น้ำตกทั่วไป ถึงจะทึบก็สามารถได้ยินในระยะทางถึง ๕๐๐ เมตร แล้วไหลมาอีกในระยะทางประมาณ ๖-๘ เมตร ก็ถึงปากเพียวบริเวณที่น้ำเพียว ยอดชี และโก่ย ไหลมารวมกันเป็นต้นกำเนิดแม่น้ำชีที่แท้จริง กว่าลำชีกับเพียวจะรวมกันได้สนิทมีระยะทางประมาณ ๑๐๐ เมตรเศษ สังเกตได้จากจุดเริ่มต้นระหว่างชีกับเพียวสีของน้ำจะแตกต่างกัน คือ ชีออกสีเทา เพียวจะมีสีใสและเย็นจัด ฉะนั้นเห็นได้เด่นชัดมาก ยิ่งในปัจจุบันนี้ ป่าพงริมฝั่งน้ำถูกทำลายหมดยิ่งมองเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อชีกับเพียวรวมกันสนิทดีแล้ว จึงพบน้ำอีกสายหนึ่ง คือห้วยน้ำอุ่น
ห้วยน้ำอุ่น เกิดจากเทือกเขาเทวดาและซีกตะวันตกของทุ่งกะมัง มีป่าไผ่เหี้ย ไผ่ซาง ไผ่ป่าเท่านั้น และไม้เบญจพรรณอื่นๆ เป็นเทือกเขาสูงแคบๆ ปริมาณน้ำจึงไม่มากไหลผ่านถ้ำเทวดา หรือถ้ำกุ้ง หรือถ้ำค้างคาว เพราะภายในถ้ำแห่งนี้จะมีลักษณะพิเศษคือเป็นถ้ำลึกแคบเหมือนถ้ำเชียงดาวที่เชียงใหม่ ภายในถ้ำมีค้างคาวอาศัยอยู่นับล้านๆ ตัว มูลค้างคาวกองสูงมากถ้าบรรทุกรถสิบล้อ ได้ประมาณ ๒๐ คันอาจจะไม่หมดด้วยซ้ำ ในลำน้ำมีปลาลักษณะเหมือนปลาตะเพียนสีขาวอาศัยอยู่ เรียกกันว่าปลาทอง ประมาณ ๕-๖ ตัว ขนาดความยาวประมาณ ๖ นิ้ว ลำตัวกว้าง ๓-๔ ซม. มีเกล็ดเป็นสีทอง เหลืองทอง เด่นชัดมาก ถ้านำมานอกถ้ำจะเด่นชัดยิ่งขึ้น ถัดลึกเข้าไปในถ้ำมีแท่นหินสีทองขนาด ๑๐ คนโอบ ลักษณะคล้ายแท่นประดับ จึงได้ชื่อว่าถ้ำเทวดา ลึกเข่าไปอีกเป็นบ่อมีน้ำ มีใบไม้เศษไม้วางอยู่มีกลิ่นอบอวลของสมุนไพร มีชื่อเรียนกว่า บ่อยา ถือกันว่าถ้าใครไม่สบายได้ดื่มยาในบ่อนี้จะหาย ด้วยประการฉะนี้คณะข้าราชการโดยการนำของผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิจึงนำเอาน้ำในถ้ำนี้ไปร่วมเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ในพิธีรัชมังคลาภิเษก ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระชนมายุครบ ๖๐ พรรษา น้ำไหลเข้าถ้ำนี้ไปอีกประมาณ ๕ กิโลเมตร ก็ไหลออกจากภูเขาตรงรอยหินแตก ปริมาณน้ำที่ไหลออกมาเท่ากับน้ำประปาไหลจากท่อขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๓/๔ นิ้ว บริเวณที่น้ำไหลออกจากภูเขามีกุ้งอยู่มากมายสามารถจับมาเป็นอาหารได้ น้ำไหลลดระดับลงเรื่อยๆ ประมาณ ๔-๕ กิโลเมตร แล้วมารวมกับน้ำสายใหญ่ปากเพียวเป็นต้นน้ำชีที่สมบูรณ์ ไหลวนเวียนอ้อมภูเขา (เป็นเขาที่กำลังถูกทำลายโดยการทำให้เลื่อนลอย) เป็นระยะทางประมาณ ๘ กิโลเมตรไหลผ่านหมู่บ้านโหล่นเป็นหมู่บ้านแรกดังที่กล่าวไปแล้ว
ไม่ว่าจะไปตามลำเพียว โก่ย และยอดชีทุกสาย ถ้าเดินทางจากบ้านโหล่นเราจะพบน้ำตกสวยๆ ได้ต้องใช้เวลาเดินทางอย่างน้อย ๒ วัน จึงจะสมหวัง ฉะนั้นคณะสำรวจต้องทราบและขยันฟันฝ่าอุปสรรคนานาประการ จึงสามารถไปถึงจุดหมายและนำมาเล่าสู่กันฟังได้
จากการที่ได้ทราบว่า ปริมาณนั้นได้ลดลงเป็นประจำทุกปีนั้น สาเหตุเพราะป่าเขาต้นกำเนิดแม่น้ำชีของเราบางแห่งถูกทำลายโดยการทำไร่เลื่อนลอย จากเดิมระยะทางยาว ๘ กิโลเมตร เพิ่มเป็น ๑๐ – ๑๒ กิโลเมตร ในปัจจุบันได้เพิ่มลึกเข้าไปมิได้หยุดยั้งเลย ฉะนั้นถ้าเราไม่พยายามระงับการบุกรุกทำลายป่าเพื่อทำไร่เลื่อยลอย ดังชาวคณะสำรวจได้กล่าวไว้ในที่นี้ก็ยากนักว่าอีสานจะเขียวได้ เพราะแผ่นดินไม่มีน้ำก็เปรียบเสมือนคนไม่มีเลือดแล้วจะมีชีวิตอยู่ได้ฉันใด ขอให้ทุกคนรวมทั้งผู้ใหญ่ระดับจังหวัดระดับประเทศได้ศึกษาและไตร่ตรองอีกสักครั้งว่าอีสาน ๙ จังหวัด จะเขียวหรือไม่ ถ้าไม่อนุรักษ์ต้นกำเนิดแม่น้ำชี
ประตูเมืองขุนเขา ได้เปิดกว้างให้สายตาของทุกคนได้มองเห็นสภาพความเป็นจริงของต้นกำเนิดแม่น้ำชีแล้วในวันนี้ อนาคตของสายธารแห่งชีวิตของผู้คนในภาคอีสานจะอุดมสมบูรณ์หรือแห้งขอด ขึ้นอยู่กับความเข้าใจและการร่วมมือร่วมแรงกันอนุรักษ์และส่งเสริมให้สายธารสายนี้มีชีวิตอยู่ต่อไปหรือไม่เท่านั้น