การประเมินวิทยฐานะตามหลักเกณฑ์ ว ๑/๒๕๕๙
วันที่ 1-30 เมษายน 2559 ผู้เสนอขอรับการประเมินต้องมีผลงานดีเด่น ที่ประสพผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ ตามที่ ก.ค.ศ. กำหนดคือ วิทยฐานะชำนาญการพิเศษ ไม่น้อยกว่า 2 รางวัล/เรื่อง และวิทยฐานะเชี่ยวชาญ ไม่น้อยกว่า 3 รางวัล/เรื่อง ต้องเป็นผลงาน ดีเด่นฯ ระหว่าง วันที่ 1 พฤษภาคม 2556 – 30 เมษายน 2559 (3 ปี) และผลงานดีเด่นต้องตรงหรือสอดคล้องกับสาขา/สาขาวิชา/กลุ่มสาระการเรียนรู้ที่ขอรับการประเมิน ทั้งนี้เขตพื้นที่การศึกษาและส่วนราชการต้องพิจารณาคัดกรองคุณสมบัติในเบื้องต้นก่อน แล้วจึงเสนอรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกให้สำนักงาน ก.ค.ศ. ภายในวันที่ 30 กันยายน 2559 กรณีผู้ที่จะเกษียณอายุราชการ ปี 2559 ให้เสนอรายชื่อถึงสำนักงาน ก.ค.ศ. ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2559 ผู้มีคุณสมบัติที่จะขอรับการประเมินต้องเตรียมพร้อมเพื่อรับการประเมินทั้ง 3 ด้าน ดังนี้
ด้านที่ 1 ด้านวินัย คุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพ โดยพิจารณาจากการมีวินัย การประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี การดำรงชีวิตอย่างเหมาะสม ความรักและศรัทธา ในวิชาชีพ และความรับผิดชอบในวิชาชีพ
ด้านที่ 2 ด้านความรู้ความสามารถ พิจารณาจาก ความสามารถในการจัดการเรียนการสอน
ด้านที่ 3 ด้านผลการปฏิบัติงาน แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ
ส่วนที่ 1 ผลการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน
ส่วนที่ 2 ผลงานดีเด่นที่ประสพผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์
ส่วนที่ 3 ผลงานทางวิชาการ ผลการพัฒนางานตามข้อตกลง ซึ่งการพัฒนางานตามข้อตกลงจะต้องต่อยอดจากผลงานดีเด่นที่ประสพผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์เรื่องใดเรื่องหนึ่ง
ยื่นขอรับการประเมิน ตามกำหนดการข้างต้นและขอให้ทุกท่านประสบผลสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้
สำนักงาน ก.ค.ศ. ได้แจ้งเวียนหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ 0206.1/ ว 1 ลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2559 เรื่อง การให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้มีผลงานดีเด่นที่ประสพผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ มีวิทยฐานะหรือเลื่อนเป็นวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ และวิทยฐานะเชี่ยวชาญทุกตำแหน่ง
การยื่นคำขอรับการประเมินกำหนดให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ยื่นคำขอในระหว่างวันที่ 1-30 เมษายน 2559 ซึ่งผู้ขอรับการประเมินจะต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่ ก.ค.ศ. กำหนด ในวันที่ยื่นขอรับการประเมิน โดยส่วนราชการต้นสังกัดจะต้องเสนอรายชื่อข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้ารับการประเมินตามหลักเกณฑ์และวิธีการนี้ครั้งเดียว พร้อมเอกสารหลักฐานถึงสำนักงาน ก.ค.ศ. ภายในวันที่ 30 กันยายน 2559
ก.ค.ศ. ได้ให้การรับรองรางวัลสูงสุดระดับชาติขึ้นไป จำนวน 203 รางวัล เพื่อใช้ในการยื่นขอรับการประเมินเพื่อให้มีหรือเลื่อนเป็นวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ และวิทยฐานะเชี่ยวชาญ ในสังกัด สพฐ./กศน./สอศ. โดยมีทั้งรางวัลที่เคยรับรองเดิม และรางวัลที่ให้การรับรองใหม่รวมอยู่ในบัญชีรายชื่อรางวัลทั้งหมดแล้ว ซึ่งสามารถศึกษารายละเอียดหรือดาวน์โหลดเอกสาร
ใช้ผลงานดีเด่นที่ได้รับรางวัลสูงสุดระดับชาติขึ้นไป และผลงานดีเด่นที่มีคุณภาพเทียบเทียงรางวัลสูงสุดระดับชาติขึ้นไป ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2556 – 30 เมษายน 2559 กรณีเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนด ผู้ขอรับการประเมินต้องชี้แจงข้อมูลและเอกสารหลักฐานอย่างชัดเจนว่าหลังจากนั้นได้มีการพัฒนาและนำผลงานดีเด่นฯ ไปใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่องอย่างไร
ผู้ขอรับการประเมินจะต้องมีผลงานดีเด่นที่ประสพผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ ในกรณีได้รับรางวัลสูงสุดระดับชาติขึ้นไป หรือผลงานดีเด่นที่ส่วนราชการต้นสังกัดพิจารณาว่าเป็นผลงานดีเด่นที่มีคุณภาพเทียบเคียงรางวัลสูงสุดระดับชาติขึ้นไปตรงหรือสอดคล้องกับสาขา/สาขาวิชา/กลุ่มสาระการเรียนรู้ที่ขอรับการประเมิน สำหรับวิทยฐานะชำนาญการพิเศษไม่น้อยกว่า 2 รางวัล ซึ่งจัดทำขึ้นเองร้อยละ 100 จำนวน 1 รางวัล วิทยฐานะเชี่ยวชาญ ไม่น้อยกว่า 3 รางวัล ซึ่งจัดทำขึ้นเองร้อยละ 100 จำนวน 2 รางวัล กรณีมีผู้ร่วมจัดทำหลายคนผู้ขอรับการประเมินจะต้องมีส่วนร่วมในการดำเนินการไม่น้อยกว่าร้อยละ 60
ผู้ขอรับการประเมินต้องจัดทำเอกสารสรุปผลงานดีเด่น จำนวน 1 เล่ม ไม่เกิน 50 หน้า และภาคผนวกไม่เกิน 10 หน้า โดยรวมผลงานดีเด่นที่เสนอขอรับการประเมิน ทุกรายการในเล่มเดียวกัน
ผู้ขอรับการประเมินต้องจัดทำข้อเสนอในการพัฒนางาน ตามองค์ประกอบ ๔ ข้อ
ที่ ก.ค.ศ. คือ
(๑)ประเด็นการพัฒนา
(๒)เป้าหมายในการพัฒนา
(๓)วิธีการพัฒนา
(๔)แนวทางการตรวจสอบและการประเมินผลการพัฒนา จำนวน ๑ เรื่อง
โดยต้องเป็นเรื่องที่พัฒนาต่อยอดมาจากผลงานดีเด่นที่ประสพผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ที่เสนอขอในครั้งนี้
และสอดคล้องกับสาขา/สาขาวิชา/กลุ่มสาระการเรียนรู้ที่ขอรับการประเมิน
ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวต้องผ่านความเห็นชอบจาก อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา
หรือ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ. ตั้ง ให้เป็นข้อตกลงในการพัฒนางาน
ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ได้รับการคัดเลือกจาก อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาหรือ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ. ตั้ง และส่วนราชการต้นสังกัด ซึ่งมีรายชื่อส่งถึงสำนักงาน ก.ค.ศ. ถือว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติเบื้องต้นเท่านั้น การที่จะผ่านการประเมินเพื่อให้มีหรือเลื่อนวิทยฐานะหรือไม่จะต้องได้รับการประเมินจากคณะกรรมการ ณ สถานที่ปฏิบัติงานก่อน