ขุนช้าง ขุนแผน ในพงศาวดาร

เรื่องขุนช้าง ขุนแผน มีเนื้อความปรากฏในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า ซึ่งนับเป็นเรื่อง ในพระราชพงศาวดาร

|
พระราชวงศ์ของ พระเจ้าอู่ทอง ได้ครองราชสมบัติ ในกรุงศรีอยุธยาตามลำดับหลายพระองค์ จนถึงพระเจ้าแผ่นดินทรงพระนามว่า พระพันวษา มีพระมเหสีทรงพระนามว่า สุริยวงษาเทวี มีพระราชโอรสองค์หนึ่งมีพระนามว่า พระบรมกุมารต่อมา พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตลานช้าง ปรารถนาจะเป็นพันธมิตรกับกรุงศรีอยุธยา จึงส่งพระราชธิดาองค์หนึ่งมาถวายพระพันวษา ระหว่างทางได้ถูกพระเจ้าโพธิสารราชกุมาร เจ้านครเชียงใหม่ ไม่ต้องการให้กรุงศรีสัตนาคนหุต มาเป็นมิตรกับกรุงศรีอยุธยา ส่งกำลังเข้าแย่งชิงพระราชธิดาไป |
สมเด็จพระพันวษาทราบเรื่องก็ทรงพระพิโรธ สั่งให้ยกทัพไปตีนครเชียงใหม่ ในการนี้จำต้องหาผู้ที่มีฝีมือในการรบไปทำการ พระจมื่นศรีมหาดเล็ก ได้กราบทูลให้ใช้ ขุนแผน ซึ่งต้องโทษอยู่ในคุกให้เป็นแม่ทัพหน้ายกไปตีเมืองเชียงใหม่ ขุนแผนก็รับอาสาพร้อมกับถวายทัณฑ์บนว่าถ้าทำการไม่สำเร็จก็จะขอถวายชีวิต พระพันวษาจึงตั้งให้ขุนแผนเป็นแม่ทัพ ถืออาญาสิทธิ์คุมกองทัพไทย ไปตีนครเชียงใหม่ เมื่อกองทัพยกไปถึงเมืองพิจิตร ได้ไปขอดาบเวทวิเศษ (ดาบฟ้าฟื้น) กับม้าวิเศษ (ม้าสีหมอก) ที่ฝากเจ้าเมืองพิจิตรไว้คืนมา เพื่อนำไปใช้ในการศึก เมื่อกองทัพถึงเชียงใหม่ ฝ่ายเชียงใหม่ได้ทำการต่อสู้เป็นสามารถ แต่สู้ไม่ได้ ขุนแผนเข้านครเชียงใหม่ได้ เจ้านครเชียงใหม่หนีไป ขุนแผนจึงจับอรรคสาธุเทวี มเหสีเจ้าเชียงใหม่กับพระราชธิดานามว่า เจ้าแว่นฟ้าทอง พร้อมสนมเจ้านครเชียงใหม่ไว้ และให้เชิญนางสร้อยทอง ราชธิดาพระเจ้าลานช้าง พร้อมทั้งมเหสีและราชธิดาเจ้านครเชียงใหม่ เลิกทัพกลับมาถวายพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระพันวษา ได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระเจ้าเชียงใหม่ กลับมาครองเมืองเชียงใหม่ ตามเดิม เพื่อความสงบสุขของสมณชีพราหมณ์และราษฎรชาวเมืองเชียงใหม่ และให้พระราชทานบำเหน็จรางวัลแก่ขุนแผนและกำลังพลในกองทัพโดยทั่วหน้า ทรงตั้งนางสร้อยทองเป็นพระมเหสีซ้าย นางแว่นฟ้าเป็นสนมเอก ส่วนมเหสีเจ้านครเชียงใหม่ ทรงส่งคืนให้เจ้านครเชียงใหม่ ส่วนบรรดาข้าคนชาวลานช้างและชาวเชียงใหม่ ก็ให้ตั้งถิ่นฐานทำมาหากินในกรุงศรีอยุธยา ฝ่ายขุนแผนเมื่อเห็นว่าตนชราภาพแล้ว จึงนำดาบเวทวิเศษของตนถวายสมเด็จพระพันวษา พระองค์ทรงรับไว้เป็นพระแสงทรงสำหรับพระองค์ และทรงพระราชทานว่า พระแสงปราบศัตรู สมเด็จพระพันวษาครองราชย์ได้ 25 พรรษา เสด็จสวรรคตเมื่อพระชนมายุ 40 พรรษา
***จากหลักฐานดังกล่าว เรื่องขุนช้างขุนแผน เป็นเรื่องที่เกิดในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ระหว่าง พ.ศ. 2034 - พ.ศ. 2072
ขุนช้างขุนแผน ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ

เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนนี้ เป็นที่นิยมในหมู่ชาวไทยทุกเพศทุกวัยเป็นเวลาช้านาน ด้วยเหตุผลตามที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงพระนิพนธ์ไว้ในหนังสือสาส์นสมเด็จว่า “...เอาเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนมาอ่านเล่นในเวลาว่าง เห็นว่าเป็นเรื่องดี และแต่งดีอย่างเอกทีเดียว เคยอ่านมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วนก็ยังอ่านสนุกไม่รู้จักเบื่ออยู่นั่นเอง มารู้สึกว่ามีประโยชน์อยู่ในหนังสือเรื่องนี้อีกอย่างหนึ่ง”
เค้าเรื่องขุนช้างขุนแผนนี้สันนิษฐานว่าเคยเกิดขึ้นจริงในสมัยกรุงศรีอยุธยา แล้วมีผู้จดจำเล่าสืบต่อกันมา เนื่องจากเรื่องราวของขุนช้างขุนแผนมีปรากฏในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า แต่มีการดัดแปลงเพิ่มเติมจนมีลักษณะคล้ายนิทานเพื่อให้เนื้อเรื่องสนุกสนานชวนติดตามยิ่งขึ้น รายละเอียดในการดำเนินเรื่องยังสะท้อนภาพการดำเนินชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมในครั้งอดีตได้อย่างชัดเจนยิ่ง
เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนเป็นวรรณกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชนิพนธ์ร่วมกับกวีแห่งราชสำนัก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชนิพนธ์ตอนพลายแก้วเป็นชู้กับนางพิม ตอนขุนแผนขึ้นเรือนของขุนช้างและเข้าห้องนางแก้วกิริยา และตอนนางวันทองหึงกับนางลาวทอง พระบาทสมเด็จพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทรงพระราชนิพนธ์ตอนขุนช้างขอนางพิม และตอนขุนแผนพานางวันทองหนี สุนทรภู่แต่งตอนกำเนิดพลายงาม นอกจากนั้นยังมีกวีอื่นๆ ช่วยกันแต่งอีกมาก เนื่องด้วยความงดงามในการใช้ถ้อยคำของกวีเอกในครั้งนั้น วรรณคดีสโมสรในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ยกย่องวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผนว่าเป็นยอดแห่งกลอนเสภา
อนึ่ง ในการพิมพ์ครั้งนี้ ได้นำ “ตำนานเสภา” และ “ว่าด้วยชำระหนังสือเสภา” พระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพมารวมพิมพ์ไว้ด้วยกรมศิลปากรหวังว่า เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน จักอำนวยคุณประโยชน์แก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนผู้สนใจโดยทั่วกัน
สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร